'สสว.' ทำถึง ดัน SME ปังตังได้คืน อุดหนุนธุรกิจสีเขียวเข้าเป้า 1,000 ราย
"สสว." ทำถึง ดัน SME ปังตังได้คืน อุดหนุนธุรกิจสีเขียวเข้าเป้ากว่า 1,000 ราย เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจที่จะขอสินเขื่อสีเขืยวกับสถาบันการเงิน
น.ส.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า สสว. มีระบบการเข้าถึงการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ (Business Development Service : BDS) ที่ให้บริการที่เกี่ยวข้อง ทั้งการให้คำปรึกษาในการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินท์ภายในสถานประกอบการ การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร
การทวนสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองฉลากคาร์บอน และขึ้นทะเบียนและการรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจก รองรับธุรกิจสีเขียวที่เข้าร่วมโครงการ SME ปัง ตังได้คืน วงเงินสนับสนุนปีนี้กว่า 100 ล้านบาท คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสนใจประมาณ 1,000 ราย เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจที่จะขอสินเขื่อสีเขืยวกับสถาบันการเงินด้วย
“ปีนี้ สสว.เน้นการเปิดให้บริการเพิ่มเติมด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง และมีแนวโน้มเป็นการกีดกันสินค้าและบริการ ผ่านมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ทั้งยังเน้นการส่งเสริมและยกระดับด้านมาตรฐาน หรือสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสีเขียว และการผลักดันให้มีการนำธุรกิจเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อการยกระดับการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ปัจจุบัน สสว.ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านระบบการให้บริการสนับสนุน ด้านการพัฒนาธุรกิจ ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS โครงการ SME ปัง ตังได้คืน มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 มีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 32,922 ราย มีการให้บริการที่เพิ่มมากขึ้นถึง 610 บริการ จาก 130 ผู้ให้บริการทางธุรกิจ
ทั้งนี้ ครอบคลุมทุกสาขาบริการ ไม่ว่าจะเป็น ด้านมาตรฐาน การบริหารจัดการธุรกิจ การตลาด ด้านการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกรับบริการเพื่อพัฒนาธุรกิจได้เอง ตามความต้องการของแต่ละธุรกิจ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS โดย สสว.จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเอสเอ็มอีแบบร่วมจ่าย (Co-payment) ในสัดส่วน 50-90% วงเงินสูงสุด 200,000 บาท ตามขนาดของธุรกิจ
ที่ผ่านมา สสว.ได้พิจารณามอบรางวัลผู้ให้บริการทางธุรกิจดีเด่นประจำปี 2567 โดยมีแนวทางการมอบรางวัล 4 ด้าน คือ
1.ด้านการประสานงาน (Coordinating) ได้แก่สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
2.ด้านการสร้างเครือข่าย (Networking) ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
3.ด้านการสร้างบริการที่ผู้ประกอบการสนใจ (Service approach) ได้แก่ มูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
4.ด้านการดำเนินงาน (Operating) ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)