'คมนาคม' ปรับหลักเกณฑ์ ดันธุรกิจเรือสำราญ หนุนการท่องเที่ยว

'คมนาคม' ปรับหลักเกณฑ์ ดันธุรกิจเรือสำราญ หนุนการท่องเที่ยว

“มนพร” เผย “เจ้าท่า” ปรับประกาศกระทรวงฯ กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การอนุญาตเรือสำราญและกีฬาขนาดใหญ่ ให้ทันสมัย-สร้างรายได้เพิ่ม-หนุนไทยเป็นฮับท่องเที่ยวทางน้ำภูมิภาคเอเชีย

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่า ได้ปรับปรุงประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข การอนุญาตให้เรือสำราญและกีฬาขนาดใหญ่ (Super Yacht) ของบุคคลผู้ไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์เรือไทย ทำการค้าในน่านน้ำไทย ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายกระทรวงคมนาคมที่ส่งเสริมการประกอบธุรกิจเรือสำราญและกีฬาขนาดใหญ่ (Super Yacht)

รวมทั้งสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของการท่องเที่ยวระดับโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวทุกระดับและเพิ่มสัดส่วนของนักท่องเที่ยว ที่มีคุณภาพสูง สร้างรายได้จาก การท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับจังหวัดภูเก็ต มียุทธศาสตร์ที่มีจุดเด่นเป็น ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก (World Maritime Destination Hub)

\'คมนาคม\' ปรับหลักเกณฑ์ ดันธุรกิจเรือสำราญ หนุนการท่องเที่ยว

โดยที่ผ่านมา มีการบังคับใช้มาเป็นระยะเวลาพอสมควร ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2558 จนถึงปัจจุบัน (กันยายน 2567) รวมระยะเวลา 9 ปี ดังนั้น จึงมีนโยบายให้ดำเนินการปรับปรุงประกาศกระทรวงคมนาคมเรื่องดังกล่าวใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเล โดยปัจจุบันเรือสำราญและกีฬาขนาดใหญ่ (Super Yacht) ยังมีเรือไทยไม่เพียงพอกับความต้องการอีกด้วย

นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า สำหรับการปรับปรุงประกาศเรื่องดังกล่าว ได้ปรับขนาด ของเรือสำราญและกีฬาขนาดใหญ่ (Super Yacht) จากเดิมที่เป็นเรือต้องมีความยาวตั้งแต่ 30 เมตรขึ้นไปบรรทุกคนโดยสารได้ไม่เกิน 12 คน ให้เป็นเรือที่มีขนาดตั้งแต่ 24 เมตรขึ้นไป บรรทุกคนโดยสารได้ไม่เกิน 12 คน ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

\'คมนาคม\' ปรับหลักเกณฑ์ ดันธุรกิจเรือสำราญ หนุนการท่องเที่ยว

พร้อมทั้งกำหนดกรมธรรม์ประกันภัย ให้เหมาะสมครอบคลุมตามมาตรฐานและหลักการประกันภัยทางทะเล ที่มีวงเงินคุ้มครองความเสียหายไม่ต่ำกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อครั้ง หรือราว 171 ล้านบาทต่อครั้ง  ทั้งนี้ การยื่นขออนุญาตสามารถดำเนินการได้โดยผ่านระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์และสามารถใช้เอกสารประกอบคำขอได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งกำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตให้เสร็จภายใน 25 วันทำการ

อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้เรือสำราญและกีฬาขนาดใหญ่ (Super Yacht) เข้ามาทำการค้าในน่านน้ำไทยได้  จะเพิ่มขีดความสามารถในการท่องเที่ยว สนับสนุนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำและเรือสำราญในภูมิภาคเอเชีย (Marina Hub Of Asia) ตามนโยบายรัฐบาล กระตุ้นการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศ โดยการแวะท่องเที่ยว เช่าท่าที่จอดเรือ จ้างซ่อมบำรุงรักษาเรือ ใช้บริการโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายเสบียงอาหาร เป็นต้น

รวมถึงสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ ได้แก่ การจ้างกัปตันและลูกเรือเพื่อดูแลเรือ การจ้างช่างซ่อมเรือ  อีกทั้งช่วยพัฒนาความรู้ด้านวิชาชีพเกี่ยวกับการซ่อมเรือและการเป็นกัปตันเรือ ส่งเสริมให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการใช้จ่ายในประเทศ ตลอดจนเกิดการท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวเศรษฐีต่างชาติ โดยเรือซุปเปอร์ยอร์ชที่ต้องการมาเที่ยวในเขตภูมิภาคเอเชรย ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินจากการใช้จ่ายที่สูงมากของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อีกด้วย