หอการค้าไทย  ชี้เงินบาทแข็งค่า แรง เร็ว กระทบส่งออก-สินค้าเกษตร-ท่องเที่ยว

หอการค้าไทย  ชี้เงินบาทแข็งค่า แรง เร็ว กระทบส่งออก-สินค้าเกษตร-ท่องเที่ยว

หอการค้าไทย  เผย บาทแข็งกระทบส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก จี้ ให้หน่วยงานภาครัฐร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่า  มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนหนักจนเกินไป

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าหลังจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี และได้ยื่นสมุดปกขาว รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ประกาศ 10 นโยบายนั้น ซึ่งหลายมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ตรงกับข้อเสนอแนะแนวทางของหอการค้าไทยที่อยู่ระหว่างดำเนินการควบคู่ไปกับรัฐบาล เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนของกลุ่มเปราะบาง จะทำให้เกิดการใช้จ่ายทันที มาตรการเร่งแก้หนี้ ทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ โดยหอการค้าฯ มีแผนจะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพูดคุยและหาแนวทางที่เหมาะสมในการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมฝากถึงรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 และ 68 โดยเฉพาะงบการลงทุนและก่อสร้าง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ โดยหอการค้าฯ และเครือข่ายสมาชิกทั่วประเทศพร้อมสนับสนุนและทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงหน่วยงานภาคที่เกี่ยวข้อง อย่างใกล้ชิด

ในส่วนของค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้น อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหา เพราะเงินบาทแข็งกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย เงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ทึ่  34 บาทต่อดอลลาร์ 

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทย กล่าวว่า  ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น 8-10 % อย่างรวดเร็วและรุนแรงในระยะสั้น ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00 บาท (+-) ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น ค่าใช้จ่ายสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะสูงขึ้นตาม ทำให้การท่องเที่ยวไทยกลายเป็นจุดหมายที่มีราคาสูง และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยจะจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เพราะรู้สึกว่าสินค้าและบริการแพงขึ้นกว่าปกติและอาจจะเลือกไปยังประเทศที่มีค่าเงินอ่อนกว่าและคุ้มค่ามากกว่า นั้น

จากที่กล่าวมาเบื้องต้น ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย หากค่าเงินบาทแข็งค่าเฉลี่ย 1% ต่อปี กระทบรายได้ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี อาจมีผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นกว่า 0.5% ของ GDP ปกติ ดังนั้น ค่าเงินบาทที่ผันผวนในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยโดยทันที โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก หรือ Local Content อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งการที่ค่าเงินบาทผันผวนจะส่งผลกระทบใน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่

1.ขีดความสามารถในการแข่งขัน  ค่าเงินบาทที่ผันผวนจะทำให้ลดขีดความสามารถในการส่งออกเป็นมาก  โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตที่ใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรและประมงจะปรับสูงขึ้นทันที 10 % ส่งผลให้ผู้ผลิตและแปรรูปในไทยอาจต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นตาม ซึ่งจะทำให้ลดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เนื่องจากผู้ซื้อจะหันไปหาสินค้าจากประเทศอื่นที่มีราคาถูกกว่า

2. การวางแผนการผลิตและการตลาด หากค่าเงินมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตและแปรรูปอาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดหรือการผลิตได้ทันเวลา ทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.ความไม่แน่นอนและเพิ่มความเสี่ยงทางธุรกิจส่งออกเนื่องจากความผันผวนของค่าเงิน ความผันผวนของค่าเงินสร้างความไม่แน่นอนในตลาด การลงทุนและการวางแผนธุรกิจจะยากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าลงทุนในโครงการใหม่หรือขยายตลาด ส่งผลให้ขาดโอกาสในการพัฒนาและเติบโตในอุตสาหกรรมของไทยอย่างเหมาะสม

“หอการค้าฯ จึงขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนอย่างรุนแรงจนเกินไป และดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ  มีการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์โลกปัจจุบัน “นายพจน์ กล่าว

 ทั้งนี้ หอการค้าฯ ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาถูก ไม่มีคุณภาพที่ไหลทะลักเข้ามาในประเทศ สร้างความเสียหายต่อผู้บริโภคและส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยส่วนนี้ได้มีการหารือและอยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ในการติดตามดูแลสินค้าไทย-จีน และจัดทำโครงสร้างการค้าที่เป็นธรรมทั้ง 2 ประเทศ เป็นต้น

สำหรับประเด็นเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยหากจะปรับขึ้นเท่ากันทั้งหมด แต่อยากให้เป็นไปตามมติ คณะกรรมการค่าจ้าง ที่จะพิจารณาขึ้นค่าแรงตามความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ทางหอการค้า มีความเห็นว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขึ้นค่าแรงควรเป็นปีหน้า ซึ่งโดยปกติแล้วมีการปรับขึ้นปีละ 1 ครั้ง ขณะที่ปีนี้มีการปรับขึ้นไปแล้ว 2 ครั้ง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า  สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกลงแบบเร็ว-แรงที่ 0.50%  จากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5.25-5.50% สู่ 4.75-5.00% ซึ่งหอการค้าฯ เห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ กนง. ควรพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยวและบริการ สามารถที่แข่งขันได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับความกังวลของภาคเอกชนในการติดตามอัปเดตสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายกรณีสถานการณ์น้ำท่วม ปี 2567 ประมาณ 21,577 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.12% ของ GDP (ข้อมูล ณ 18 ก.ย. 67) (สมมติให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายภายใน 15 วัน) 

ทั้งนี้ จากการประเมิน พบว่า ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมถึง 18,226 ล้านบาท รองลงมาเป็นภาคบริการ เสียหาย 3,260 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรมเสียหาย 91 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในหลายจังหวัดเริ่มคลี่คลายจากระดับน้ำที่ลดลง ดังนั้น สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญทันทีหลังสถานการณ์ระดับน้ำลดลงและเข้าสู่ภาวะปกติ คือ การช่วยเหลือ ซ่อมแซม และฟื้นฟู ให้ประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งหอการค้าฯ เห็นว่ารัฐบาลควรมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐ เร่งจัดมาตรการทางการเงินช่วยเหลือเช่น การพักชำระหนี้ การลดดอกเบี้ย หรือแม้แต่ Soft Loan เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว

 ทั้งนี้ หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 กรณีนับรวมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วง Q4 ของปีนี้ให้เติบโตราว 3.8 – 4.3% โดยทั้งปีจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นอีก 0.2 - 0.3% และทำให้ภาพรวม GDP ในปีนี้เติบโตจากเดิมที่คาดไว้ 2.5% เป็น 2.6 - 2.8%