‘บาทแข็งค่า’ กระหน่ำส่งออกไทย 8 องค์กรธุรกิจชง ‘คลัง-ธปท.’ จับเข่าแก้ปัญหา
"เอกชน" จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาเงินบาทแข็งรุนแรง กระทบท่องเที่ยว และภาคส่งออก “อาหาร-เกษตร” สูญรายได้จากการส่งออกแล้ว 5 หมื่นล้านบาท คาดจนถึงสิ้นปีนี้อาจเสียหายหนักถึง 1.3 แสนล้านบาท เตรียมหารือคลัง ธปท.แก้ปัญหา ส.อ.ท.หวั่นต่างชาติลังเลเที่ยวไทย
สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเร็ว และต่อเนื่องส่งผลให้ภาคเอกชนออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งเข้ามาจัดการ เพราะส่งผลกระทบต่อรายได้ในรูปเงินบาทของภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ออกมาเคลื่อนไหวประเด็นดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2567 ร่วมกับสมาคมที่เกี่ยวข้องรวม 8 องค์กร คือ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย , สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออก , สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย , สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย , สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย , สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และสมาคมโรงแรมไทย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาค่าเงินบาทแข็งว่า ในเร็วๆ นี้ หอการค้าไทย จะนัดหารือกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) เพื่อให้ช่วยหาทางแก้ปัญหาค่าเงินบาท รวมถึงหนี้ของประชาชน และเอสเอ็มอีที่ฉุดกำลังซื้อในประเทศ อีกทั้ง ยังอยากเห็นกระทรวงการคลัง และ ธปท.จับเข่าคุยกัน
อย่างไรก็ตาม เอกชนยังเชื่อว่าทั้ง 2 หน่วยงาน จะมีข้อมูลในเชิงลึกที่ใช้ประกอบการตัดสินใจดำเนินมาตรการ และควรออกมาเป็นทิศทางเดียวกัน เพื่อจะให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
“เรามีจุดยืนที่จะให้ ธปท.และกระทรวงการคลัง ไปคุยกัน สิ่งที่เราออกมาแสดงความคิดเห็นในวันนี้ ก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง เราเชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีข้อมูลที่ดี เราคงไม่พลาดเหมือนกับในช่วงต้มยำกุ้ง พร้อมกันนั้น ในเร็วๆ นี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันก็จะยื่นสมุดปกขาวให้กับนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วย” นายสนั่น กล่าว
บาทแข็งฉุดความสามารถการแข่งขันส่งออก
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้นเร็ว และรุนแรงในระยะสั้น ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00 บาท (+-) ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ
โดยตั้งแต่ต้นปี 2567 เคลื่อนไหวอยู่กว่า 37 บาทต่อดอลลาร์ และแข็งค่าขึ้นเป็น 36 บาทกว่าต่อดอลลาร์ มาสัปดาห์ที่แล้ว 33 บาทต่อดอลลาร์ และล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 23 ก.ย.67 อยู่ที่ 32.91 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าเฉลี่ยๆ กว่า 10-12% แล้ว ทำให้กระทบต่อขีดความสามารถด้านการแข่งขันราคาส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก หรือ Local Content อาทิ
กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร รับกระทบ 5 หมื่นล้าน
กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร อย่าง ข้าว เกษตร เกษตรแปรรูป อย่างไก่ อาหารกระป๋อง ที่ได้รับผลกระทบไปแล้ว 50,000 ล้านบาท อีกทั้งกระทบการท่องเที่ยว และภาคบริการที่อาจทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอตัดสินใจมาเที่ยวไทย เพราะราคาสินค้า และบริการแพงขึ้น
“ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว และรุนแรง ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบแล้ว เพราะส่วนใหญ่เป็นการขายออร์เดอร์ล่วงหน้าหลายเดือน ตอนนั้นโค้ดราคาขายที่ 36 บาทต่อดอลลาร์ แต่ตอนนี้ บาทแข็งมาอยู่ที่ 32.91 บาทต่อดอลลาร์ และผู้ส่งออกรายใดที่ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ไม่ทัน ก็ขาดทุนแล้ว” นายพจน์ กล่าว
ดังนั้น หอการค้าไทย จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการส่งออกที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ บวกลบ และทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนรุนแรงเกินไป และเหมาะสมกับเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านราคา
ม.หอการค้า มองบาทแข็งถึงสิ้นปีเสียหาย 1.3 แสนล้าน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะนี้ ทำให้รายได้จากการส่งออกของกลุ่มเกษตร เกษตรแปรรูป หายไปแล้วประมาณ 50,000 ล้านบาท และหากยังแข็งค่าอยู่ระดับนี้ไปถึงสิ้นปีนี้ จะทำให้รายได้จากการส่งออกของกลุ่มนี้หายไปกว่า 130,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 1% ของจีดีพี
ทั้งนี้ ใกล้เคียงกับเม็ดเงินที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจจากโครงการเงินดิจิทัล ที่รัฐบาลให้กับกลุ่มเปราะบางก่อนที่ประมาณ 145,000 ล้านบาท แม้รายได้ที่หายไปดังกล่าว จะยังไม่กระทบต่อเศรษฐกิจปีนี้ แต่อาจส่งผลกระทบได้ในปีหน้า โดยคาดว่าปีนี้ เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ 2.6-2.8% เพราะมีเงินจากเงินดิจิทัลเข้ามาช่วยกระตุ้น
รวมทั้งถึงเวลาที่ กนง.ควรปรับลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้เงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยว และบริการสามารถที่แข่งขันได้ดียิ่งขึ้น
“บาทแข็ง” รายได้ส่งออกไก่สูญเดือนละ 1 หมื่นล้าน
นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออก กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จาก 36 บาท เป็น 33 บาทต่อดอลลลาร์ ขณะนี้ ทำให้รายได้จากการส่งออกของไก่หายไปแล้ว 10% หรือหายไปแล้วเดือนละ 1,000 ล้านบาท ถ้าจนถึงเดือนธ.ค.67 ก็จะหายไป 5,000-6,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ทำให้ราคาไก่มีชีวิต ลดลงจากเดิมกิโลกรัม (กก.) ละ 44 บาท ขณะนี้เหลือ 40 บาท แต่ต้นทุนของเกษตรกรอยู่ที่กิโลกรัมละ 41-42 บาท เกษตรกรขาดทุนแล้ว
อีกทั้งยังกระทบเป็นห่วงโซ่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ หรือตั้งแต่วัตถุดิบอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยง โรงเชือด ผู้ผลิต ผู้ส่งออกขณะที่คู่แข่งสำคัญ อย่าง บราซิล ผู้ส่งออกไก่อันดับ 1 ของโลก ค่าเงินอ่อนค่า 3-4% ทำให้ไทยแข่งขันยาก ต้องลดราคาแข่ง ซึ่งก็จะขาดทุน
ส.อ.ท.ชี้ผู้ส่งออกต้องลดราคาสินค้า
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เมื่อสหรัฐลดดอกเบี้ยทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา แข็งค่าแล้ว 5% ถือว่าสูงมากกระทบการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว ดังนี้
1.กลุ่มที่ส่งออกสินค้า แล้วอยู่ในขั้นตอนการเรียกชำระค่าสินค้าเมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทแล้ว ผู้ส่งออกจะได้รับเงินลดลงเพราะค่าเงินแข็งค่าเงินบาทขึ้นแทนที่จะมีกำไรก็อาจน้อยลงหรือไม่ได้กำไรในการค้าขาย
2.กลุ่มที่อยู่ระหว่างการเจรจาขายสินค้าต้องปรับราคาขายใหม่ เมื่อมีการปรับราคาขึ้นลูกค้ามักจะไม่ยอมทำให้การส่งออกสินค้าไทย มีความยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศที่ลดลงเนื่องจากสินค้าไทยมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น สามารถซื้อจากที่อื่นทดแทนได้
ส่วนภาคการท่องเที่ยวนั้น นักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อแลกเงินได้น้อยกว่าเดิม จะทำให้ต้องจ่ายสูงขึ้นเพื่อมาเที่ยวในประเทศไทย จุดนี้ ก็อาจทำให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนใจไปเที่ยวที่ประเทศอื่นแทนได้
เงินบาทแข็งค่า-ผันผวนต่อ
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงต้นสัปดาห์ (23 ก.ย.2567) ถือว่าเคลื่อนไหวแข็งค่าในช่วงเช้า และแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือนครึ่งที่ 32.87 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางแรงกดดันของเงินดอลลาร์ จากแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกลงในช่วงบ่าย และขยับอ่อนค่ากลับมาเคลื่อนไหวใกล้ๆ แนว 33.00 บาทต่อดอลาร์ ตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลกที่ย่อตัวลง การขยับอ่อนค่าของสกุลเงินเอเชียอื่นๆ และสัญญาณที่สะท้อนว่า นักลงทุนต่างชาติอาจมีสถานะอยู่ในฝั่งขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยในวานนี้ ทั้งนี้ คาดว่าสัปดาห์นี้ ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหว 32.80-33.50 บาทต่อดอลลาร์ยังอยู่ในระดับแข็งค่า
จับตา ‘ธนาคารกลางจีน’ เปิดแถลงข่าว
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า พาน กงเซิ่ง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) พร้อมทีมเจ้าหน้าที่ระดับสูง จะเปิดแถลงข่าวในวันอังคารที่ 24 ก.ย.67 นี้ ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์จับตาว่า การเปิดแถลงข่าวของแบงก์ชาติจีนซึ่งมีขึ้นไม่บ่อยครั้ง อาจจะเป็นการแถลงข่าวใหญ่เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่กำลังชะลอตัวลง
หลังจากที่แบงก์ชาติจีนประกาศว่า พาน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีก 2 คนของแบงก์ชาติจีน จะแถลงข่าวเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินเพื่อช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนในวันอังคารนี้ เพียงไม่กี่นาทีต่อมา ธนาคารกลางจีนก็ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย Reverse repo ระยะ 14 วัน ลง 0.10% ซึ่งคาดว่าเป็นการปรับให้เป็นไปตามทิศทางเดียวกันหลังจากที่ลดดอกเบี้ยดังกล่าวระยะ 7 วัน ไปแล้วตั้งแต่เดือนก.ค.
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ยิ่งเพิ่มความคาดหวังให้กับตลาดทุนว่า PBOC จะแถลงข่าวเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม ภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศใช้ยาแรงลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดการณ์โดยลดไป 0.50% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
‘ค่าเงินริงกิต’ แข็งค่าสุดรอบ 50 ปี
‘ค่าเงินริงกิต’ ของ มาเลเซีย แข็งค่าขึ้น มากกว่า 12% แรงสุดในรอบ 50 ปี หลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มโตแกร่ง ดึงเงินลงทุนไหลเข้าตลาด ‘หุ้น-บอนด์’ กว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานความเคลื่อนไหวของ ค่าเงิน ริงกิต ของ “มาเลเซีย” เคลื่อนไหวที่ระดับ 4.2 ริงกิต/ดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่าขึ้นมากกว่า 12% เมื่อเทียบดอลลาร์ในไตรมาสนี้ นับว่าแข็งค่าขึ้นสูงสุดรอบ 50 ปี ถือเป็นสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ที่มีผลงานดีที่สุด จากช่องว่างอัตราดอกเบี้ยที่แคบลงเมื่อเทียบสหรัฐ และการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น พร้อมกับมูลค่าสินทรัพย์น่าสนใจทำให้ริงกิตมีแนวโน้มแข็งค่าต่อ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์