'เอกนัฏ' วาง 2 ทางรอด หนุนชาวไร่อ้อย หวั่นสต็อกน้ำตาลโลกล้น ฉุดราคาขายในไทย
“เอกนัฏ” วาง 2 ทางรอด ดันชาวไร่ตัดอ้อยสด ย้ำ ต้องเพิ่มรายได้ให้ระบบอุตฯ อ้อยและน้ำตาลไทย "สอน." คาดฤดูการผลิตปี 67/68 มีผลผลิต 92 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.96% ชี้ สต็อกน้ำตาลโลกสะสม ทำราคาน้ำตาลตลาดโลกครึ่งปีหลัง 67 คง 21 เซนต์ต่อปอนด์ กดราคาอ้อยในประเทศเหลือ 1,200 บาท ลดลง 15.49%
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย สถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เข้าพบเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อขอรับทราบถึงความคืบหน้าการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ปีการผลิต 2566/2567
ทั้งนี้ ตนมีข้อกังวลในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และขอวางแนวทางไว้ 2 ประเด็น ดังนี้ 1. ประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องผลิตและนำส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานน้ำตาล และโรงงานน้ำตาลจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพได้ปริมาณตามมาตรฐาน เพื่อให้เกิดรายได้ที่มากที่สุดกับระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งหากประสิทธิภาพการผลิตลดลง จะทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายลดลง ส่งผลให้รายได้และราคาอ้อยลดต่ำลงไปด้วย ซึ่งหากมีการเรียกร้องให้รัฐบาลต้องอุดหนุนราคาอ้อย ก็จะผิดกติกาการค้าโลก
2. การสนับสนุนเงินช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้มีระยะเวลาในการปรับตัว และปรับพื้นที่ปลูกอ้อยให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ประกอบกับปัญหาภัยแล้ง อาจจะส่งผลให้ราคาอ้อยในปีนี้ลดลงจากปีก่อน และผมได้ให้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ในการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงงานที่ผลิตไฟฟ้าจากใบและยอดอ้อย
ถือเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและประโยชน์ของใบและยอดอ้อย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยลดการเผาอ้อย และถือเป็นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบจากประชาชนและชุมชนใกล้เคียง
“ผมเข้าใจความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย การใช้รถตัดอ้อยหรือการจ้างแรงงานคนตัดอ้อยสด ล้วนมีต้นทุนการผลิต เราต้องหันกลับมาช่วยลดต้นทุนการผลิตสำหรับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดี และได้สั่งการให้ สอน.หารือกับโรงงานน้ำตาลเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน ก่อนการเปิดหีบฤดูการผลิตปี 2567/2568 เพื่อให้เกิดรายได้ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพิ่มมากขึ้น และให้ สอน. หาวิธีการชดเชยต้นทุนให้กับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงาน และอีกส่วนหนึ่งนำรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายใบอ้อยมาชดเชย” นายเอกนัฏ กล่าว
รายงานข่าวจาก สอน. ระบุว่า สถานการณ์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ราคาน้ำตาลตลาดโลกเฉลี่ยที่ระดับ 20 เซนต์ต่อปอนด์ ลดลง 16.67% จากปี 2566 ที่ราคาอยู่ในระดับ 24 เซนต์ต่อปอนด์ เนื่องจากมีสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกเป็นจำนวนมาก โดยบราซิลซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกมีผลผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นอีกทั้งได้เพิ่มสัดส่วนการผลิตน้ำตาล ประกอบกับในฤดูการผลิตปี 2566/67 ไทยมีผลผลิตน้ำตาล 8.81 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12.80% จากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมี 7.81 ล้านตัน
สำหรับสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 แนวโน้มราคาน้ำตาลตลาดโลกจะอยู่ในระดับที่ไม่เกิน 21 เซนต์ต่อปอนด์ โดยมีปัจจัยมาจากบราซิลสามารถผลิตน้ำตาลได้มากขึ้น และหากอินเดียได้เปลี่ยนนโยบายอนุญาตให้ส่งออกน้ำตาลได้ตามปกติ จะส่งผลให้สต็อกน้ำตาลในตลาดโลกสะสมเพิ่มขึ้น ส่วนไทยคาดว่าในฤดูการผลิตปี 2567/2568 จะมีผลผลิตอ้อย 92 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.96% เมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีที่ผ่านมาที่มีปริมาณอ้อย 82.17 ล้านตัน
ก่อนหน้านี้ นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า เบื้องต้น สอน. ได้นำตัวเลขมาคิดคำนวณราคาอ้อยในประเทศสำหรับฤดูการผลิตปี 2567/2568 หากราคาน้ำตาลตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับที่ 21 เซนต์ต่อปอนด์ จะส่งผลให้ราคาอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,200 บาทต่อตันอ้อย ลดลง 15.49% เมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีที่ผ่านมาที่มีราคาอ้อยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,420 บาทต่อตันอ้อย
อย่างไรก็ดี องค์ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยในประเทศยังคงมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ในฤดูการผลิตปี 2567/2568 สอน. จะมีแนวทางในการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีผลผลิตที่ดี และโรงงานได้น้ำตาลทรายที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยผลักดันราคาอ้อยในประเทศให้สูงขึ้นในอนาคต