“ITD"ดึงศักยภาพไทยส่งต่อ“Action Plan”เปลี่ยนความท้าทายสู่โอกาสทางการค้า
“การค้าระหว่างประเทศ”มีสัดส่วนต่อจีดีพีประเทศไทยมากกว่า 70% แต่ความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบันกำลังทำให้โจทย์ทางการค้าที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกำลังจะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ เป็นเครื่องมือซึ่งThink Tank อย่าง สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD กำลังขับเคลื่อนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนให้รับมือกับความท้าทายเพื่อแปลงไปสู่โอกาสทางการค้าของประเทศไทย
สุภกิจ เจริญกุล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เปิดเผยในโอกาสจัดกิจกรรมปฐมนิเทศหลักสูตรผู้นำยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการพัฒนา รุ่นที่ 1 (Leadership Program on Trade and Development Strategy) เป็นหลักสูตรที่ ITD ออกแบบและพัฒนาร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งสร้างผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทย 4 อุตสาหรกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหารและเกษตร อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และพลังงาน และอุตสาหกรรมยานยนต์
สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือสัดส่วนรายได้ที่สำคัญของประเทศ ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของและพื้นฐานของประเทศที่จะต้องขับเคลื่อนรับเทรนด์อนาคต นั่นคือ ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี
ด้านอุตสาหกรรมอาหารและเกษตร แม้ไทยจะมีศักยภาพและการพัฒนามานานแต่หากยกระดับไปสู่อาหารแห่งอนาคต หรือ Future Food ได้จะทำให้เกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมโดยรวมสามารถตอบโจทย์ความท้าทายในอนาคตได้ ส่วนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และพลังงาน จะเป็นการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยที่ต้องการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภูมิภาคซึ่งไทยมีหลายโครงการที่จะขับเคลื่อนไปด้านนี้อยู่แล้วหากมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เหมาะสมจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ประเทศและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันไปได้ควบคู่กัน
ทั้งนี้ ผลของการจัดทำหลักสูตรนี้ คาดหวังว่าจะสามารถนำเสนอAction Plan ส่งไปยังภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมรายกลุ่ม เพื่อนำไปใช้ในทางปฎิบัติได้จริงแบบเป็นขั้นเป็นตอน และเมื่อรวมกับศักยภาพผู้เข้าร่วมหลักสูตรซึ่งเป็นระดับผู้บริหาร(C Level)ซึ่งจะสามารถนำไปใช้เพื่อขับเคลื่อนองค์กรได้
“มุ่งหวังว่าผู้นำที่มีศักยภาพสูงอย่างผู้ศึกษาฯในรุ่นที่ 1 นี้ จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและนำมาซึ่งการยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศไทย เพื่อให้สามารถทัดทานกับวิกฤติและความผันผวนได้ดียิ่งขึ้น”
การจัดหลักสูตรดังกล่าว ITD ได้เชิญผู้บริหารภาครัฐ และภาคเอกชน มาร่วมกันระดมสมอง ซึ่งปีนี้จัดเป็นปีแรก ปรากฎว่ามีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมกว่า 200 ราย และได้คัดเลือกเหลือ 81 ราย ใช้เวลาคัดเลือกนานมาก เพราะมีคนสนใจ คนเก่ง ๆ ส่วนใหญ่เป็นเบอร์ 1 2 และ 3 ของหน่วยงาน เป็นภาครัฐประมาณ 40% ที่เหลือเป็นภาคเอกชน คละกันไปทั้งรายใหญ่ ที่เป็นบริษัทมหาชน รายเล็ก นักธุรกิจรุ่นใหม่ ผู้ที่อยู่ในวงการเทคโนโลยี และ AI สถาบันการเงินก็มี ไฟแนนซ์ก็มี โดยคนเหล่านี้ จะมาเรียนรู้ด้วยกัน มาทำงานร่วมกัน โดยใช้เวลาอบรมประมาณ 3 เดือน สัปดาห์ละ 2 วัน โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เช่น จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาหรือ อังค์ถัด มาอบรม ให้ความรู้ และมีศศินทร์มาทำงานร่วมกัน
ทั้งนี้ ปี 2568 ITD มีแผนที่จะจัดทำหลักสูตร รุ่นที่ 2 หลังจากรุ่นแรกได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเรื่องที่จะนำมาใช้ในการจัดทำแผนเชิงนโยบาย จะเน้นให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ และเรื่องอื่น ๆ ที่อยู่ในบริบทการค้าและการพัฒนา อาทิ ซอฟต์ พาวเวอร์ เป็นต้น
ศุภกิจ กล่าวอีกว่า การค้าปัจจุบันมีการขับเคลื่อนที่รวดเร็วมาก ทั้งกฎระเบียบ ข้อมูล เงื่อนไขการค้า หรือแม้แต่เงื่อนไขอืื่น เช่น ภูมิรัฐศาสตร์ การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและสุดขั้นเหล่านี้ต้องใช้ทั้งองค์ความรู้และการตอบสนองที่รวดเร็วเช่นกัน ดังนั้น การทำงานของITD เองจากนี้จะปรับให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อสร้างคลังความรู้ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาในโลกแห่งอนาคต
“เดิมเราทำวิจัยแบบที่ต้องใช้ระยะเวลาที่นาน จากนี้อาจต้องปรับให้เป็นรูปแบบที่ใช้เวลาสั้นลง แต่ยังครอบคลุมและมีคุณภาพเหมือนเดิม เป็นการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ค้าที่เร็วและมีปัจจัยอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้อง”
ในโอกาสเดียวกันนี้กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขึ้นปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “International Trade and Development of Thailand Amidst Global Economic Uncertainties” ว่า ไทยเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุน มายาวนาน ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้รับจ้างผลิตเพื่อส่งออกสินค้าและบริการ และมีความตกลงการค้าเสรีกว่า 15 ฉบับ นำมาสู่การจ้างงานหลากหลายสาขา
ทั้งนี้ การแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจ ความเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้า การเกิดขึ้นของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอุบัติใหม่ ทำให้หลายประเทศต้องเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและปรับโครงสร้างการส่งออกให้สอดคล้องกับกฎระเบียบสากล นำมาสู่การยกระดับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนประเทศสมาชิก และขอบเขตความตกลงที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและสิทธิแรงงานมากขึ้น
สำหรับITD เล็งเห็นความสำคัญในการถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทย ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหารและเกษตร อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และพลังงาน และอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ไม่เพียงแต่เป็นรากฐานการผลิตสินค้าต่าง ๆ แต่ยังรวมถึงธุรกิจการค้าในภาคบริการที่มุ่งไปสู่ Modern Services ที่ไทยแข่งขันได้ในตลาดการค้าโลกท่ามกลางความผันผวนซึ่งยากที่คาดการณ์ได้