สรรพสามิต ชงเก็บ ‘ภาษีคาร์บอน’ รับรู้ต้นทุนสิ่งแวดล้อม ดันไทยสู่เน็ตซีโร่

สรรพสามิต ชงเก็บ ‘ภาษีคาร์บอน’ รับรู้ต้นทุนสิ่งแวดล้อม ดันไทยสู่เน็ตซีโร่

“สรรพสามิต” ชงเก็บภาษีคาร์บอน รับรู้ต้นทุนการผลิตสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยันไม่กระทบราคาขายปลีกเพิ่มขึ้น นำร่องสร้างกลไกตลาดคาร์บอนภาคบังคับ ก่อนกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้

นางสาวรัชฎา วานิชกร ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวในหัวข้อ “ภาษีคาร์บอน กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” ในงานสัมมนา Road to Net Zero 2024: The Extraodinary Green จัดโดยฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2567 ว่า ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 372 ตันคาร์บอนต่อปี โดยส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงานและภาคขนส่ง คิดเป็น 70% รองลงมาเป็นภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย

ซึ่งในปี 2050 ประเทศไทยได้ประกาศและให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะเดินหน้าประเทศสู่เน็ตซีโร่ หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และตั้งเป้าหมายที่ใกล้กว่านั้นคือปี 2030 จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30-40%

“ตอนนี้เราเหลือเวลาอีก 6 ปี ที่จะต้องพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2030 จาก 555 ล้านตันคาร์บอน ลงมาที่ 333 ล้านตันคาร์บอน ซึ่งกลไกราคาคาร์บอนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำให้เราก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายนี้ได้”

ทั้งนี้ประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมโดยจะมีการบังคับใช้กฎหมายใหม่ ร่าง พ.ร.บ. Climate Change ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างเสนอต่อรัฐสภา ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยจะมีการบังคับใช้กลไกภาคบังคับในการจัดเก็บภาษีคาร์บอน รวมทั้งกลไกภาคสมัครใจของตลาดคาร์บอนเครดิต 

เบื้องต้น ในปี 2024 ได้เริ่มกระบวนการเสนอร่าง พ.ร.บ. Climate Change ต่อสภาฯ อย่างไรก็ตามยังต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี ในช่วงระหว่างปี 2024-2029 ก่อนที่จะกลไกของตลาดคาร์บอนภาคบังคับในไทยจะเริ่มมีผลใช้บังคับ

ทั้งนี้ กรมสรรพสามิต จึงได้เสนอให้มีการใช้กลไกของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต เป็นการเก็บภาษีคาร์บอนนำร่องไปพลาง ก่อนที่กฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้ โดยการเก็บภาษีของสินค้าที่ปล่อยมลพิษสูงและอยู่ในพิกัดสรรพสามิต 

นางสาวรัชฎา กล่าวต่อว่า จากการศึกษากรณีตัวอย่างในต่างประเทศในการคำนวณกลไกราคาคาร์บอน โดยการนำสินค้าเชื้อเพลิงจำนวนเท่ากันไปเผาไหม้แล้วบันทึกปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมา ซึ่งเชื้อเพลิงแต่ละชนิดมีความสะอาดไม่เท่ากัน 

โดยเบื้องต้นภาครัฐได้มีการกำหนดราคาคาร์บอนเป็นราคาเดียว ซึ่งยุโรปราคาคาร์บอนสูงกว่า 100 ดอลลาร์ ญี่ปุ่นอยู่ที่ 3 ดอลลาร์ สิงคโปร์จากเริ่มต้น 5 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเป็น 25 ดอลลาร์ ส่วนประเทศไทยยังไม่กำหนด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา เบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 200 บาท หรือประมาณ 6 ดอลลาร์

”เมื่อนำราคาคาร์บอนไปคำนวณกับปริมาณเชื้อเพลิงทก็จะได้ออกมาเป็นกลไกราคาคาร์บอนที่อยู่ในเชื้อเพลิงแต่ละประเภท ซึ่งที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดคือ LPG รองลงมาเป็นน้ำมั้นเตา ดีเซล และเบนซิน“

ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตต้องการบรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนนโยบายภาษีคาร์บอนคือ สะท้อนให้ผู้ใช้ตระหนักและเห็นว่าต้นทุนในการใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยคาร์บอนออกมา แต่ยังไม่ต้องกังวลว่าภาษีคาร์บอนจะทำให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้น และเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 

โดยการดำเนินการในช่วงแรกจะเป็นการสร้างความตระหนักสำหรับภาคอุตสาหกรรมรวมถึงประชาชน ว่ากิจกรรมที่ทำนั้นมีราคาของคาร์บอน แต่จะไม่ให้กระทบกับต้นทุนในการใช้ชีวิตและประกอบธุรกิจ

”แนวนโยบายดังกล่าวเตรียมที่จะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็ววันนี้ ก่อนจะมีความชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วจะกำหนดราคาคาร์บอนที่ 200 บาทหรือไม่“

นางสาวรัชฎา กล่าวต่อว่า นโยบายภาษีคาร์บอนคาดหวังว่าจะทำให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมได้เตรียมความพร้อมสำหรับต้นทุนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อวางแผนในการคำนวณต้นทุน การลงทุนในการปรับเปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยีสะอาด ว่ามีความคุ้มค่าแค่ไหน ส่วนภาคประชาชนเองจะได้ตระหนักว่าการใช้ชีวิตมีต้นทุนในการปล่อยคาร์บอน 

ขณะที่ภาคสิ่งแวดล้อมมีการดูแลที่ชัดเจนมากกว่าเดิมที่ไม่มีกลไกคาร์บอนภาคบังคับเลย ครอบคลุม 25% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมด ส่วนภาครัฐก็จะมีกลไกภาษีในการเตรียมการก่อนที่จะใช้กลไกคาร์บอนเต็มพิกัดและตลาดคาร์บอนภาคบังคับที่มีผลใช้จริงอีก 4-5 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับบริษัทผู้ค้าปลีกน้ำมันในการสร้างความตระหนักรู้ภาคประชาชน โดยการให้นำเสนอข้อมูลว่าประชาชนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไหร่เมื่อเลือกใช้น้ำมันที่สะอาดกว่า ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิต จะได้นำไปคิดคำนวณต้นทุนการผลิตเพื่อเตรียมพร้อม