'การบินไทย' ยื่นไฟลิ่ง 30 ก.ย.นี้ เดินหน้าพ้นจากแผนฟื้นฟูกิจการ
“การบินไทย” เตรียมเทคออฟออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ กำหนดยื่นไฟลิ่ง 30 ก.ย.นี้ สตาร์ทขั้นตอนปรับโครงสร้างทุน ก่อนกลับเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไตรมาส 2 ปี 2568 ปิดจ๊อบกว่า 4 ปีบนเส้นทางฟื้นฟูกิจการ ปลดพนักงาน ขายสินทรัพย์ และทอดปาท่องโก๋
KEY
POINTS
- “การบินไทย” เตรียมเทคออฟออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ กำหนดยื่นไฟลิ่ง 30 ก.ย.นี้ สตาร์ทขั้นตอนปรับโครงสร้างทุน ก่อนกลับเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไตรมาส 2 ปี 2568
- ปิดจ๊อบกว่า 4 ปีบนเส้นทางฟื้นฟูกิจการ ปลดพนักงานจาก 30,000 คน เหลือ 15,000 คน ขายสินทรัพย์ทั้งเครื่องบินและสำนักงาน และทอดปาท่องโก๋ สินค้ากระแสจนสร้างเงินสดในมือฝ่าวิกฤตโควิด
- คาดปรับโครงสร้างทุนแล้วเสร็จปีนี้ จับตาประกาศงบการเงินงวดปี 2567 ในช่วงเดือน ก.พ.2568 ดันส่วนทุนเป็นบวก ก่อนยื่นศาลล้มละลายขอออกจากแผนฟื้นฟู
นับเป็นเวลากว่า 4 ปี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการการฟื้นฟูกิจการ ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.2563 ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางจะเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการบินไทยขับเคลื่อนแผนหยุดขาดทุน ลดค่าใช้จ่ายจากการปรับลดพนักงานจาก 30,000 คน เหลือ 15,000 คน
นอกจากนี้ การบินไทยยังมุ่งหารายได้ทุกช่องทาง ทั้งขายสินทรัพย์ประเภทอากาศยาน อาคารสำนักงานทั้งในและต่างประเทศ อุปกรณ์เครื่องใช้บนเครื่องบิน รวมไปถึงการทอดปาท่องโก๋ที่เป็นซิกเนเจอร์ของครัวการบินไทย จนสามารถเป็นสินค้ากระแสมาแรงและสร้างรายได้ให้การบินไทยในช่วงโควิด-19 เพิ่มเงินสดในมือให้บริษัทนำไปเสริมสภาพคล่องได้ไม่น้อย
“ชาย เอี่ยมศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 30 ก.ย.นี้ การบินไทยจะเริ่มกระบวนการแรกของการ “ปรับโครงสร้างองค์กร” โดยจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) สำหรับการปรับโครงสร้างทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ)
"การบินไทยจะยื่นเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาปรับโครงการทุนครั้งนี้ มีรายละเอียดมากถึง 2,000 หน้า ซึ่งประกอบการ ข้อมูลบริษัท แผนธุรกิจ แผนจัดหาเครื่องบิน โดยมั่นใจว่าจะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในการบินไทย หลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว"
ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา การบินไทยได้เดินสายเจรจาให้ข้อมูลกับเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆ ที่ต้องแปลงหนี้เป็นทุน อาทิ เจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์ เจ้าหนี้กลุ่มสถาบันการเงิน ส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนแผนฟื้นฟูของการบินไทย และเชื่อว่าการปรับโครงสร้างทุนครั้งนี้จะแล้วเสร็จตามเป้าหมาย ทำให้การบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้
อย่างไรก็ดี การยื่นไฟลิ่งเพื่อปรับโครงสร้างทุนครั้งนี้ นับเป็นหนึ่งในกระบวนการตามเงื่อนไขเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยกำหนดผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการที่ต้องแล้วเสร็จรวม 4 เงื่อนไข ได้แก่
1.การเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยต้องดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุน และได้รับสินเชื่อใหม่ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน และมีจำนวนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ
2.ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ผิดนัดชำระหนี้ได้ติดต่อกัน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วย
3.มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ใน 2 ปีก่อนจะรายงานผลสำเร็จของแผนฟื้นฟู
4.การแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น
สำหรับรายละเอียดการปรับโครงสร้างทุน การบินไทยกำหนดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1.การแปลงหนี้ ประกอบด้วย
เจ้าหนี้กลุ่ม 4 แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของมูลหนี้เป็นทุน ซึ่งรวมถึงเจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ได้แก่ กระทรวงการคลัง
เจ้าหนี้กลุ่ม 5 (สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการรับเงินจากการขายเครื่องบิน) แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เป็นทุน
เจ้าหนี้กลุ่ม 6 (สถาบันการเงินไม่มีประกัน) แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เป็นทุน
เจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้) แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เป็นทุน
เจ้าหนี้กลุ่ม 4 5 6 และ 18-31 แปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมจากร้อยละ 24.50 ที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ
2.การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน
โดยส่วนนี้จะเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานบริษัท และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงตามลำดับ
อย่างไรก็ดี ภายหลังยื่นไฟลิ่งกับ ก.ล.ต.แล้ว กระบวนการหลังจากนั้นภายในเดือน พ.ย.2567 จะเริ่มกระบวนการใช้สิทธิ และแจ้งเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่ม และภายในเดือน ธ.ค.2567 จะเข้าสู่กระบวนการเสนอขาย และจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน สำหรับผู้ถือหุ้นก่อนบริษัท เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ พนักงานบริษัท และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP)
ทั้งนี้ หลังเริ่มกระบวนการปรับโครงสร้างทุน ซึ่งจะทำให้การบินไทยมีส่วนทุนเป็นบวกนั้น อาจต้องใช้เวลา 2 เดือน เพื่อตรวจสอบงบการเงิน และประกาศงบการเงินงวดปี 2567 ในช่วงเดือน ก.พ.2568 หลังจากนั้นจะเริ่มยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และหุ้นของบริษัท กลับเข้าซื้อขายใน ตลท.ภายในไตรมาส 2 ปี 2568