นบขพ .เคาะมาตรการรักษาเสถียรภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วงเงิน 320 ล้านบาท

นบขพ .เคาะมาตรการรักษาเสถียรภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ วงเงิน 320 ล้านบาท

คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ. )เห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 67/68 จำนวน   5 โครงการ วงเงินรวม 320.71 ล้านบาท 

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ปีนี้ราคาข้าวโพดดี แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากจากน้ำท่วมในบางพื้นที่  โดยคาดการณ์ว่าจะมีผผลิตช่วงต.ค.-ธ.ค. เพิ่มขึ้น 73% ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ที่มีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้เห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2567/68 จำนวน 2 โครงการและเพิ่มช่องทางการตลาด จำนวน 1 โครงการ วงเงิน 113.17 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องของสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร โดยไม่เร่งระบายผลผลิต และรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และมาตรการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 2 โครงการ วงเงิน 207.54 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนในการพัฒนาการผลิตของตนเอง โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และลดต้นทุนการผลิต รวมงบประมาณทั้งสิ้น 320.71 ล้านบาท
         
สำหรับ 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2567/68 วงเงิน 26.67 ล้านบาท โดยจะชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ 4% ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต็อก 60-120 วัน ระยะเวลารับซื้อตั้งแต่ พ.ย.2567–ม.ค.2568

 

กรมการค้าภายใน กล่าวว่า โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 67/68 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2567/68 วงเงิน 35 ล้านบาท ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร คิดดอกเบี้ยเงินกู้ 4.50% ต่อปี สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย 1% ต่อปี และรัฐบาลสนับสนุนดอกเบี้ยแก่ ธ.ก.ส. 3.50% ต่อปี (ไม่เกิน 12 เดือน) เริ่มจ่ายสินเชื่อ ตั้งแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติถึง 31 พ.ค.2568

โครงการเพิ่มช่องทางการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2567/68 วงเงิน 51.50 ล้านบาท โดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) ผู้รับซื้อนอกพื้นที่ เข้าไปรับซื้อในพื้นที่ ๆ ผลผลิตออกมาก กระจายไปสู่ผู้ใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้อย่างรวดเร็ว ลดการกระจุกตัวของผลผลิต ซึ่ง อคส. จะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3% (3 เดือน) และผู้รับซื้อได้รับสนับสนุนค่าบริหารจัดการ ไม่เกิน 500 บาท/ตัน เริ่มรับซื้อตั้งแต่ ต.ค.2567-31 ม.ค.2568
         
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2567/68 วงเงิน 138 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรนำไปใช้เป็นเงินทุนในการเพิ่มผลิตภาพการผลิตและคุณภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อาทิ ระบบน้ำหยด วงเงินรายละไม่เกิน 230,000 บาท เป้าหมาย 10,000 ราย รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 3% ต่อปีเริ่มจ่ายสินเชื่อ ตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติอนุมัติ–30 ก.ย.2568

โครงการส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประเทศไทย (ปีที่ 1) วงเงิน 69.54 ล้านบาท โดยกรมส่งเสริมการเกษตรอบรมถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรและจัดทำแปลงเรียนรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา เป้าหมายเกษตรกร 37,440 ราย ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 32 จังหวัด เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติอนุมัติ–30 ก.ย.2568
         
นายวัฒนศักดิ์
  กล่าวว่า ทั้งนี้ มาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทนยังคงมาตรการเดิม โดยการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้ AFTA ผู้นำเข้าทั่วไปนำเข้าได้ในช่วง 1 ก.พ.–31 ส.ค.2568 สำหรับการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องรับซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน ให้ใช้การรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ ตั้งแต่ 1 ส.ค.2567 เป็นต้นไป มาแสดงประกอบการขออนุญาตนำเข้าข้าวสาลีในปี 2568 โดยจะมีคณะอนุกรรมการในการติดตามสถานการณ์ด้านการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เกษตรกร และเอกชน ร่วมเป็นอนุกรรมการ เพื่อให้การบริหารจัดการการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยึดหลักสมดุลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายในห่วงโซ่การผลิต โดยกระทรวงพาณิชย์จะได้นำเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบต่อไป