สปก. ร่วม กรมส่งเสริมการเกษตร แลกเปลี่ยนข้อมูล ยกระดับเกษตรกรในเขตปฏิรูป
“ส.ป.ก.- กรมส่งเสริมการเกษตร” ยกระดับการแลกเปลี่ยนสนับสนุนข้อมูลและการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ตอบโจทย์เกษตรกร ลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่าย อำนวยความสะดวกให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการ และข้อตกลงการแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคล ระหว่าง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) โดยนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. กับ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยนายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
โดยบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนและสนับสนุนข้อมูลเกษตรกรและการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลภูมิสารสนเทศด้านการเกษตร ข้อมูลผังแปลงเกษตรกรรมดิจิทัล และข้อมูลสารสนเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ในการยื่นคำขอจัดที่ดิน และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงความมั่นคงของสิทธิจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ และได้รับสิทธิประโยชน์ หรือความช่วยเหลือต่าง ๆ จากภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว
นายอิทธิ รัฐมนตรีช่วยฯ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสร้างความร่วมมือกันในครั้งนี้ จะพัฒนายกระดับศักยภาพของภาคเกษตรให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิชาการ ข้อมูลด้านการเกษตรและเทคโนโลยี ที่มีความสำคัญต่อการจัดการและวางแผนในทุกด้าน นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ตลอดจนบูรณาการข้อมูลเพื่อให้เกษตรกรได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เช่น ในการแจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร สำหรับเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินจาก ส.ป.ก. จะลดขั้นตอนการขอเอกสาร และสามารถตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องเป็นปัจจุบันได้
อีกทั้ง ยังช่วยในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอรับการจัดที่ดินจาก ส.ป.ก. และสามารถติดตามตรวจสอบการใช้ประประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินให้เกิดศักยภาพสูงสุด และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาสนับสนุน นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ ยังสามารถนำข้อมูลไปวางแผน การผลิต การตลาด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แก้ไขปัญหาปากท้องของเกษตรกรให้กินดี อยู่ดี ภาคการเกษตรเติบโตด้วยความมั่นคง ยั่งยืน
“กระทรวงเกษตรฯ มุ่งมั่นให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกรไทยให้อยู่ดีกินดี เชื่อมั่นว่าความร่วมกันของสองหน่วยงานในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และในอนาคตจะขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมทั้ง 22 หน่วยงานในสังกัดฯ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันให้มีความสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอน เพราะรัฐบาล กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับอาชีพเกษตรกร ประเทศเราจะขับเคลื่อนได้ต้องอาศัยเกษตรกร เพื่อเป้าหมายสำคัญคือให้พี่น้องเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”
ทั้งนี้ การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการ และข้อตกลงการแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคล ของทั้งสองหน่วยงานนั้น สืบเนื่องจาก ส.ป.ก. มีภารกิจสำคัญในการจัดที่ดินของรัฐให้แก่เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์เพื่อประกอบเกษตรกรรม โดยออกเป็นหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) และยกระดับมูลค่าของสิทธิ โดยการปรับปรุงเอกสารสิทธิให้เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” ภายใต้กฎหมายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามนโยบายของรัฐบาล จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่า
เกษตรกรที่มีคุณสมบัติได้รับการปรับปรุงเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร จำนวน 1,628,520 ราย 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่รวม 22,079,407.67 ไร่ ตามกระบวนการออกเอกสารสิทธินั้น ส.ป.ก. ต้องตรวจสอบคุณสมบัติการเป็นเกษตรกร ซึ่งส่วนหนึ่งของการตรวจสอบมาจากการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ ผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลประชาชน และการให้บริการภาครัฐ (Linkage Center) ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตรมาประกอบการพิจารณา
ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมการเกษตรก็มีภารกิจในการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกร เมื่อมีเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินต้องการขึ้นทะเบียนเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตรจึงจำเป็นต้องใช้หนังสือรับรองการเป็นเกษตรกรจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (ส.ป.ก.จังหวัด) ที่ตั้งที่ดิน เพื่อประกอบการพิจารณาของสำนักงานเกษตรอำเภอด้วย กระทรวงเกษตรฯ จึงได้เล็งเห็นถึงปัญหาและความต้องการดังกล่าว
ดังนั้น เพื่อเป็นการบูรณาการข้อมูลระหว่างกัน และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ยื่นคำขอรับการจัดที่ดิน ที่จะได้รับการตรวจสอบคุณสมบัติได้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงเกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินแล้วจะได้ไม่ต้องเสียเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปขอหนังสือรับรองจาก ส.ป.ก.จังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอ ซึ่งจะช่วยลดภาระในการตรวจสอบ หรือออกหนังสือรับรอง ส.ป.ก. จึงร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด