จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ ส.ค.จำนวน 7,599 ราย ยอดรวม 8 เดือน 6.1 หมื่นราย

จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ ส.ค.จำนวน 7,599 ราย ยอดรวม 8 เดือน  6.1 หมื่นราย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ เดือน ส.ค. จำนวน 7,599 ราย เพิ่มขึ้น 2.36% รวม 8 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) มีจำนวน 61,819 ราย เพิ่มขึ้น 0.42%  คาดแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือนส.ค.2567 มีจำนวน 7,599 ราย เพิ่มขึ้น 2.36% ทุนจดทะเบียน 17,649.67 ล้านบาท ลดลง 29.13% โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร

ส่วนการจดทะเบียนเลิกเดือน ส.ค.2567 มีจำนวน 2,063 ราย เพิ่มขึ้น 2.79% ทุนจดทะเบียน 13,813.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 96.28% เพราะการจดทะเบียนเลิกในเดือนนี้ มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนเลิกเกิน 1,000 ล้านบาท คือ ธุรกิจโรงงานผลิตและจำหน่าย ให้เช่าเทปคาสเซ็ท แผ่นเสียง แถบบันทึกเสียง ที่มีทุนจดทะเบียน 4,411.50 ล้านบาท โดยธุรกิจเลิก 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร

จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ ส.ค.จำนวน 7,599 ราย ยอดรวม 8 เดือน  6.1 หมื่นราย

ส่วนการจัดตั้งใหม่รวม 8 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) มีจำนวน 61,819 ราย เพิ่มขึ้น 0.42% ทุนจดทะเบียน 186,432.87 ล้านบาท ลดลง 60.35% เพราะช่วงเดียวกันของปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์ เนื่องจากมี 2 ธุรกิจ ที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ คือ ทรูกับดีแทค และบิ๊กซีโดยธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร

ขณะที่ยอดจดทะเบียนเลิก รวม 8 เดือน มีจำนวน 9,992 ราย ลดลง 8.92% ทุนจดทะเบียน 99,393.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.89% เพราะเดือน พ.ค.2567 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร ทุนจดทะเบียน 48,209.34 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ ทำให้ทุนเลิกสูงกว่าปกติ ส่วนธุรกิจเลิก 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 

แนวโน้มการจดทะเบียนตั้งใหม่ในระยะต่อไป กรมคาดว่า จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐ อาทิ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 และเริ่มงบประมาณปี 2568 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยทั้งปีตั้งเป้าไว้ที่ 90,000-98,000 ราย แต่ก็ต้องระวังปัจจัยเสี่ยง ทั้งเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวช้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และอุทกภัย”นางอรมน กล่าว

สำหรับการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบ ธุรกิจในประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542  ใน 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค. 2567) มี จำนวน 535 ราย  แบ่งเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 143 ราย และการขอ หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือ ความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 392 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 100,062 ล้านบาท มีนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามา ลงทุน 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 136 ราย เงินลงทุน 53,176 ล้านบาท, สิงคโปร์ 82 ราย เงินลงทุน 8,438 ล้านบาท  และสหรัฐอเมริกา 76 ราย เงินลงทุน 3,589 ล้านบาท