‘นักวิชาการ’ เตือนข้าวราคาตก หลังอินเดียส่งออก แนะรัฐบาลเตรียมรับมือ
“นักวิชาการ” เตือนรัฐบาลรับมือซัพพลายข้าวล้น หลังอินเดียยกเลิกคำสั่งแบนส่งออกข้าว ห่วงราคาข้าวร่วง ชี้ผลผลิตข้าวไทยไม่เสียหายมากคาดปริมาณผลผลิต ปีการผลิตนี้ 32 ล้านตัน แนะรัฐบาลปรับโครงสร้างการผลิตมุ่งข้าวคุณภาพ แข่งตลาดโลก
นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอิสระด้านการเกษตร และผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวเปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มจะปรับตัวลดลงเนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้มีการเปิดเสรีการส่งออกข้าวจากเดิมที่เคยมีคำสั่งให้มีการห้ามส่งออกข้าวตั้งแต่เดือนก.ค.ปี 2566 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้การยกเลิกมาตรการห้ามการส่งออกข่าวจากอินเดีย รวมทั้งยกเลิกการกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำ (minimum export price) ที่เคยกำหนดไว้ที่ 490 ดอลลาร์ต่อตันสำหรับข้าวขาว และข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติค จะทำให้อินเดียสามารถส่งออกข้าวออกมาสู่ตลาดโลกได้มากขึ้นซึ่งแนวโน้มจะทำให้ข้าวโลกมีปริมาณซัพพลายที่ออกมาสู่ตลาดโลกมากขึ้น เนื่องจากอินเดียเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก และหากกำหนดราคาส่งออกที่ต่ำกว่าราคาตลาดก็จะทำให้แนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกนั้นลดลงอีก
สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย นั้นเมื่ออินเดียส่งออกข้าวออกมาสู่ตลาดโลกจำนวนมากก็จะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลงกระทบกับราคาข้าวของฤดูกาลผลิตที่จะออกมาช่วงปลายปีซึ่งปีนี้ผลผลิตข้าวของไทยก็มีปริมาณที่มากแม้ว่าจะมีบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยแต่ส่วนใหญ่ไม่ได้กระทบกับพื้นที่ปลูกข้าวที่อยู่ในพื้นที่ภาคกลางทำให้คาดการณ์ว่าในปีการผลิตที่จะถึงนี้ไทยจะมีผลผลิตประมาณ 32 ล้านตัน ซึ่งในปริมาณที่ผลิตได้จำนวนนี้ใกล้เคียงกับปีก่อนๆ แต่ว่าราคาข้าวที่จะลดลงตามแนวโน้มราคาตลาดโลก
ส่วนสถานการณ์ข้าวในตลาดโลกนั้นจะมีการปรับขึ้นไปมากขนาดไหนในขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ชัดเจน เนื่องจากต้องพิจารณาตัวแปรเรื่องปริมาณความต้องการข้าวจากประเทศผู้นำเข้าข้าวในตลาดโลกด้วย เช่น แอฟริกา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ซึ่งหากมีความต้องการนำเข้าข้าวมากน้อยแค่ไหน เพราะในปีที่ผ่านมาฟิลิปปินส์มีการนำเข้าข้าวมากถึง 4 ล้านตัน แอฟริกาใต้ และอินโดนีเซีย ที่มีความต้องการนำเข้าข้าวสูงโดยในช่วงที่ผ่านมามีการนำข้าวเข้าในประเทศประเทศละ 2 ล้านตัน ซึ่งหากยังมีความต้องการข้าวสูงก็อาจมีการนำเข้าเพิ่ม แต่หากไม่มีความต้องการนำเข้ามากปริมาณข้าวในตลาดโลกก็จะล้นเกิน และทำให้ราคาข้าวลดลง
นายสมพร กล่าวด้วยว่าสิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะมองข้ามไม่ได้ก็คือ จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการปรับโครงสร้างการปลูกข้าว ที่ต้องมุ่งไปที่การปลูกข้าวคุณภาพสูง ข้าวที่มีมาตรฐานสูง เช่น การปลูกข้าวที่สอดคล้องกับมาตรฐาน CBAM ของ EU การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่มีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ข้าวที่มีสารอาหารสูง เป็นต้น ซึ่งเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนให้กับชาวนาไทย
นอกจากนั้นรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนในการทำนาให้กับเกษตรกร แต่การลดต้นทุนที่ดีที่สุดก็คือ การพัฒนาให้ผลผลิตต่อไร่ของชาวนาเพิ่มขึ้น เช่น จากสามารถผลิตข้าวได้ 500 กก.ต่อไร่เพิ่มเป็น 800 – 1,000 กก.จะเท่ากับต้นทุนของชาวนาลดลงทันที
“เรื่องของข้าวมีหลายประเด็นที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ เพราะการแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกนั้นทำได้ลำบาก ต้องแข่งขันกันด้วยคุณภาพ และมาตรฐานข้าว เรื่องเหล่านี้มีความสำคัญมากกว่าการแจกเงินให้กับเกษตรกร หรือกลุ่มเปราะบางซึ่งไม่ได้เกิดผลในการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว” นายสมพร กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์