'การบินไทย' จ่อเคาะกรอบราคาขายหุ้นเพิ่มทุน โชว์ 5 กลยุทธ์พลิกโฉมองค์กร

'การบินไทย' จ่อเคาะกรอบราคาขายหุ้นเพิ่มทุน โชว์ 5 กลยุทธ์พลิกโฉมองค์กร

“การบินไทย” เตรียมเคาะกรอบราคาขายหุ้นเพิ่มทุนสัปดาห์หน้า หนุนส่วนทุนเป็นบวก ก่อนออกจากแผนฟื้นฟูกลับเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ มิ.ย.2568 พร้อมประกาศ 5 กลยุทธ์ เคลื่อนองค์กรสู่เส้นทางการเติบโตครั้งใหม่ หวังครองมาร์เกตแชร์มากกว่า 27%

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้การบินไทยเดินหน้าตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมามีการจดทะเบียนเพิ่มทุนเป็น 3.3 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2565 รวมทั้งที่ผ่านมาไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ และผลการดำเนินงานรอบ 12 เดือนย้อนหลัง ตั้งแต่ ก.ค. 2566 - มิ.ย.2567 มี EBITDA เท่ากับ 2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเข้าเงื่อนไขออกจากแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดต้องมี EBITDA ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท

โดยในขณะนี้การบินไทยได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อขอปรับโครงสร้างทุนจาก ณ 30 มิ.ย.2567 บริษัทฯ มีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 4 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี เมื่อการปรับโครงสร้างทุนแล้วเสร็จ ซึ่งมีทั้งการแปลงหนี้เป็นทุน และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน จะทำให้การบินไทยกลับมามีส่วนทุนเป็นบวก ซึ่งปัจจุบันการแปลงหนี้เป็นทุน กำหนดราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ส่วนการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ปัจจุบันคาดว่าจะมีการออกรายงานประเมินมูลค่ายุติธรรมโดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระในช่วงสัปดาห์หน้า หรือกลางเดือน ต.ค.2567 ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะต้องไม่น้อยกว่าราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

\'การบินไทย\' จ่อเคาะกรอบราคาขายหุ้นเพิ่มทุน โชว์ 5 กลยุทธ์พลิกโฉมองค์กร

 

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า การบินไทยคาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการใช้สิทธิของเจ้าหนี้ในการแปลงหนี้เป็นทุนในช่วงเดือน พ.ย. 2567 และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในช่วงเดือน ธ.ค. 2567 โดยภายหลังการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ คาดว่ากระทรวงการคลังจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลง จากโครงสร้างเดิมสัดส่วน 47.9% จะเหลือสูงสุดราว 41.4% ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายอื่นๆ เข้ามาถือหุ้น

ทั้งนี้ กระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามที่แผนนี้จะเสร็จสิ้นภายในปี 2567 ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ และคาดว่าการบินไทยจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาส 2 หรือ มิ.ย.2568

“หลายคนพูดว่าการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูได้เพราะการขายสินทรัพย์ วันนี้เราทำให้เห็นแล้วว่ากระแสเงินสดที่มีสูงถึง 8 หมื่นล้านบาท มากสุดเป็นประวัติการณ์นั้น ส่วนใหญ่มาจากการบริหารธุรกิจ มีเพียง 1 หมื่นล้านบาทที่เกิดจากการขายสินทรัพย์หลักๆ ที่อาคารสำนักงานหลักสี่ และหลานหลวง การขายเครื่องบินปลดระวาง และเครื่องยนต์ ดังนั้นวันนี้ทำให้เห็นแล้วว่าการบินไทยมีผลการดำเนินงานจากการบริหารธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ”

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา การบินไทยได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด จนได้รับผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่คาดหวังเป็นอย่างดี โดยแผนฟื้นฟูกิจการนี้เปรียบเสมือนการพลิกโฉมองค์กรครั้งสำคัญ ทั้งในด้านการปรับโครงสร้างองค์กรที่พ้นจากสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ สู่ก้าวใหม่ในฐานะบริษัทเอกชนที่ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คล่องตัว และมีความโปร่งใส

\'การบินไทย\' จ่อเคาะกรอบราคาขายหุ้นเพิ่มทุน โชว์ 5 กลยุทธ์พลิกโฉมองค์กร

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้โดยสาร ปริมาณการขนส่ง และรายได้เพิ่มขึ้นโดยในปี 2566 มีผู้โดยสารรวมประมาณ 13.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 9 ล้านคนในปี 2565 และมีรายได้รวมสูงถึง 165,491.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 105,212.3 ล้านบาทในปี 2565

“วันนี้การบินไทยพร้อมที่ก้าวสู่ขอบฟ้าใหม่แห่งความภูมิใจ ด้วยการปฏิวัติธุรกิจอย่างมืออาชีพ การสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง โดยมุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยงความเป็นไทยสู่สากล และเรียกความไว้วางใจจากคนไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติให้กลับคืนมา ซึ่งการบินไทยตั้งเป้าจะดันส่วนแบ่งการตลาดผู้โดยสารที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากในปี 2566 สัดส่วน 27% จะเพิ่มต่อเนื่องในปี 2572 สัดส่วนมากกว่า 27%”

สำหรับกลยุทธ์สำคัญสู่เส้นทางการเติบโตครั้งใหม่ของการบินไทย ประกอบด้วย

  1. การเสริมสร้างเครือข่ายเส้นทางบินที่ครอบคลุม: โดยมุ่งเน้นการเชื่อมต่อเที่ยวบินที่ราบรื่น และตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารทั่วโลก
  2. การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสาร: โดยเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการเดินทาง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์
  3. การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน: เพื่อสร้างความยั่งยืนและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร
  4. การเสริมสร้างขีดความสามารถในการเพิ่มช่องทางรายได้ใหม่: เพื่อกระจายแหล่งที่มาของรายได้ และลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจการบินเพียงอย่างเดียว
  5. การมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม: เพื่อสร้างคุณค่าอันยั่งยืนให้กับธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

\'การบินไทย\' จ่อเคาะกรอบราคาขายหุ้นเพิ่มทุน โชว์ 5 กลยุทธ์พลิกโฉมองค์กร

นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เสริมว่า ผลประกอบการของบริษัทฯ ในปีที่ผ่านมา นับเป็นปีแห่งความสำเร็จ โดยเราสามารถสร้างผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 28,123.3 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการกิจการ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ นอกจากนี้ ในครึ่งปีแรกของปี 2567 บริษัทฯ ยังคงมีผลกำไรต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี แม้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจสายการบิน บริษัทฯ และบริษัทย่อยยังคงมีรายได้สำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2567 เพิ่มขึ้น 12,630.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักมาจากการกลับมาให้บริการเที่ยวบินประจำรวมถึงเปิดเส้นทางการบินใหม่เพิ่มขึ้นภายหลังโควิด-19 คลี่คลาย ทำให้มีผู้โดยสารรวมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 จำนวน 7.68 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 78.1%

สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบการขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 กำหนดให้ในการปรับโครงสร้างทุนตามแผน บริษัทฯ ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อรองรับการแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) จำนวนไม่เกิน 14,862,369,633 หุ้น ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น แบ่งเป็น

\'การบินไทย\' จ่อเคาะกรอบราคาขายหุ้นเพิ่มทุน โชว์ 5 กลยุทธ์พลิกโฉมองค์กร

เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือกระทรวงการคลังจะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วนร้อยละ 100 ขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18 – 31 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตราร้อยละ 24.50

นอกจากนี้ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ยังสามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เงินต้นคงค้างเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้เพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) จำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น ได้ในสัดส่วนที่ต้องการแต่จะต้องไม่เกินภาระหนี้ตามแผนฯ ของตน

อีกทั้ง เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ตามแผนฯ ยังได้รับสิทธิแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยความสมัครใจ จำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น โดยกำหนดให้ใช้สิทธิในการแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเต็มจำนวนของมูลหนี้เท่านั้น ไม่สามารถเลือกใช้สิทธิบางส่วนได้ ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

สำหรับกระบวนการถัดไปในเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ประกอบด้วย การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 59.01 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด รวมทั้งหุ้นที่เหลือจากกระบวนการ Voluntary Conversion (หากมี) ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานของการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ โดยจะเสนอขายในราคาที่ผู้บริหารแผนเห็นสมควรแต่จะต้องไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น

\'การบินไทย\' จ่อเคาะกรอบราคาขายหุ้นเพิ่มทุน โชว์ 5 กลยุทธ์พลิกโฉมองค์กร