‘คลัง-แบงก์ชาติ’ จุดสมดุลแก้วิกฤติ ศก.
ภาพการหารือร่วมกันระหว่าง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วานนี้
ภาพที่ออกมาดูเหมือนจะมีทิศทางที่ดี ขณะที่ ผู้ว่าแบงก์ชาติก็ดูมีท่าที่ผ่อนคลายมากกว่าครั้งที่หารือร่วมกับ อดีตนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ครั้งนี้นับเป็นการหารือ “นอกรอบ” ร่วมกันเป็นครั้งแรก ระหว่างคลัง และแบงก์ชาติ ประเด็นที่พูดคุยมีทั้งเรื่องร้อนอย่าง “หนี้ครัวเรือน” ดอกเบี้ยนโยบาย ค่าเงินบาท รวมถึงเงินเฟ้อ
ประเด็นหลักที่ถูกหยิบขึ้นมา และมีความกังวลร่วมกัน คือ “การแก้หนี้ครัวเรือน” โดยเฉพาะในส่วนของผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ นอนแบงก์ และธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากในส่วนของแบงก์รัฐ ได้ดำเนินการไปแล้วผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ อีกส่วน คือ กลุ่มเปราะบาง ที่มีการค้างชำระหนี้ และเป็นหนี้เสียแล้ว ซึ่งมีราว 7-8 แสนบัญชี ยังมีปัญหาในการชำระหนี้ เป็นกลุ่มที่ต้องเข้าไปดูแล รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ที่หวังว่าการหารือระหว่างคลัง และแบงก์ชาติครั้งนี้ จะสามารถหาจุดสมดุลทำงานร่วมกัน เพื่อแก้วิกฤติเศรษฐกิจประเทศได้
การหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลการเงินการคลังประเทศ ควรต้องมีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเมื่อประเทศเดินมาถึงจุดที่เศรษฐกิจเริ่มส่อเค้าลางไม่ดี การหันหน้าพูดคุยกันเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบายดอกเบี้ยที่สมเหตุสมผล ปัจจัยสำคัญในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หน้าที่สำคัญของแบงก์ชาติต้องหมั่นทบทวนพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และแนวโน้มการลงทุน
การปรับนโยบายการเงินให้เหมาะสม อาจต้องคำนึงถึงในพาร์ทการสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการส่งเสริมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้วย เพราะเป็นปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล นโยบายการเงินควรมุ่งเน้นการเพิ่มสภาพคล่องและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจสตาร์ตอัปและเอสเอ็มอี ส่วนนโยบายการคลังต้องสอดประสานกับนโยบายการเงิน เพื่อสร้างแรงจูงใจทางภาษีและการลงทุนที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
การบูรณาการนโยบายการเงินและการคลังเพื่อรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศเป็นสิ่งสำคัญ การสร้างกลไกการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารกลาง และหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงิน ช่วยให้การดำเนินนโยบายเป็นไปอย่างสอดคล้องและมีประสิทธิภาพ การพัฒนาระบบเตือนภัยทางเศรษฐกิจ การเตรียมมาตรการรองรับวิกฤติการณ์ทางการเงิน จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจไทยได้ในระยะยาว