'ชาญศิลป์' เผยกลยุทธ์ฝ่าวิกฤต 'การบินไทย' ล้างหนี้ 1.3 แสนล้าน
“ชาญศิลป์” เผยกลยุทธ์ฝ่าวิกฤต นำพาองค์กร “การบินไทย” ขาดทุนสะสมจากหนี้ 1.3 แสนล้านบาท พลิกทำกำไรและเงินสดในมือมากกว่า 8 หมื่นล้านบาท
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงเรื่องราวภายในหนังสือ “พลิกฟ้า ฝ่าวิกฤต การบินไทย” ที่ตนเขียนเพื่อถ่ายทอดถึงที่มา และกระบวนการทำงาน นำพาองค์กรการบินไทยพ้นแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระบุว่า ในช่วงเวลาการทำงาน 38 ปีที่ผ่านมา ตนย้ายงานมา 19 ครั้ง จนกระทั่งช่วงต้นเดือน พ.ค. 2563 ตนได้รับโทรศัพท์จากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทาบทามให้เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของการบินไทย
หลังจากเข้ามารับตำแหน่งดังกล่าว ตนใช้เวลาในการเรียนรู้งานจากบุคลากรภายในองค์กรการบินไทย รวมไปถึงผู้บริหารที่เคยอยู่ในการบินไทย เพื่อให้มั่นใจว่าตนได้เข้าใจถึงความเป็นการบินไทยที่แท้จริง ซึ่งระหว่างนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เรียกตนเข้าไปคุยเพื่อแก้ไขปัญหาสะสมของการบินไทย โดยขณะนั้นตนมีเพียงคำถามว่าการบินไทยจะไม่ต้องเป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไปได้หรือไม่ เพราะหากไม่เป็นรัฐวิสาหกิจการบริหารงานจะคล่องตัวมากกว่า ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าดำเนินการได้
อย่างไรก็ดี ปัญหาสะสมของการบินไทยที่หลายคนมองว่าขาดทุนสะสมนั้น หากดูข้อมูลจะพบว่าการบินไทยขาดทุนแค่ 12 ครั้ง และส่วนใหญ่เกิดจากผลกระทบภายนอก อาทิ วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 วิกฤต 911 การปิดสนามบินในปี 2551 และเหตุการณ์น้ำท่วม 2554 และหลังจากนั้นประเทศไทยไม่ค่อยมีความสงบทางการเมือง ทำให้การบินไทยขาดทุนต่อเนื่องในปี 2554 - 2564 รวมทั้งการลงทุนเครื่องบินและเครื่องยนต์ที่ผิดพลาด
“วันนี้เราได้เอาบทเรียนมาปรับใหม่ วันนี้การบินไทยไม่เหมือนการบินไทยที่เขากล่าวหากันแล้ว ขาดทุนสะสมที่มีหลายหมื่นล้าน จากวันที่ผมเข้ามาบริหารมีส่วนทุนติดลบ 7 หมื่นล้านบาท หนี้ 1.3 แสนล้านบาท เจ้าหนี้ 1.3 หมื่นราย หนี้ที่มีเป็นผลจากเหตุหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่วันนี้การบินไทยกลับมามีเงินสด 8 - 9 หมื่นล้านบาท และสามารถขยายกิจการได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
อย่างไรก็ดี รายละเอียดของกระบวนพลิกฟื้นการบินไทยเป็นอย่างไร และอนาคตหลังจากนี้จะเกิดในทิศทางไหน สามารถติดตามอ่านได้ในหนังสือ “พลิกฟ้า ฝ่าวิกฤต การบินไทย” เขียนโดย “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” ซึ่งภายในหนังสือ ประกอบด้วย
บทที่ 1 เมื่อ “การบินไทย” ไม่ smooth as silk
บทที่ 2 บุญนำพา (หรือ) ฟ้าลิขิต
บทที่ 3 พลิกฟ้า…ด้วยฝ่ามือ
บทที่ 4 พลังศรัทธา…นำมาซึ่งปาฏิหาริย์
บทที่ 5 ธรรมนำงาน…บริหารตามหลักพรหมวิหาร 4
บทที่ 6 การบินไทย (ยัง) รักคุณเท่าฟ้า
บทที่ 7 เรื่อง (ที่เกือบไม่ได้) เล่าท้ายเล่ม