'TPIPP' เร่งศึกษา CCUS รับเทรนด์โลกร้อน ตอบโจทย์ 'ลูกค้า-องค์กร' ยั่งยืน
'TPIPP' ย้ำลุยใช้นวัตกรรมชูจุดเด่นสินค้าต้องดีที่สุดเพื่อผู้บริโภค ระบุเทคโนโลยี CCS ยังไม่ตอบโจทย์บริษัท ลุยศึกษา CCUS ตอบโจทย์องค์กรนำของเหลือใช้มาสร้างมูลค่ามากที่สุด
นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP กล่าวในหัวข้อ Energy Transition Towards A New Green Economic ในงาน “ASEAN Economic Outlook 2025: The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity” จัดโดย "กรุงเทพธุรกิจ" วันนี้ (7 ต.ค.) ว่า กลุ่มบริษัทฯ มีเป้าหมายของการเดินทางสู่เป้า Net Zero
โดยการดำเนินธุรกิจทั้งกลุ่มของ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPITL ได้แยกเป็น 2 ส่วน ที่เริ่มจากธุรกิจปิโตรเคมี ที่ จ.ระยอง ปี ค.ศ. 1978 โดยปี ค.ศ. 1992 ได้กระโดดไปสู่ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง และปี ค.ศ. 2014 ก้าวไปสู่ธุรกิจพลังงาน ที่มีจุดเด่นจากการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า
ดังนั้น ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจถึงแผนดำเนินธุรกิจทั้งกลุ่มบริษัทฯ คือ TPI ที่ย่อมาจาก T: Technology ซึ่งทั้งกลุ่มบริษัทฯ จะใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดเพื่อจะดำเนินธุรกิจตอบรับกับความต้องการของลูกค้า P : Products ซึ่งสินค้าที่จะผลิตยั่งยืนและดีที่สุดเพื่อตอบทุกโจทย์ของชีวิตลูกค้า และ I : Innovation หรือนวัตกรรมเพื่อให้กลุ่มบริษัทฯ มีความยืนยัน โดยจะผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะผลิตสินค้าให้ดีที่สุด
"เราต้องเป็นผู้นำในธุรกิจโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาขับเคลื่อนเพื่อให้ทั้งกลุ่มมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ที่ต้องไม่ลืมนโยบาย ESG จึงต้องสร้างอีโคซิสเต็มที่มีมีของเสีย และสุดท้ายต้องใช้นโยบาย BCG อีโคโนมี เพื่อให้องค์กรเติบโตยั่งยืน"
อย่างไรก็ตาม ในการเดินทางเพื่อก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero นั้น ผู้บริหารได้วางโรดแมปว่าจะเดินหน้าอย่างไร โดยเฉพาะขยะหรือของเสียในแต่ละโรงงานที่ต้องสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบของอีกโรงานได้ เช่น โรงไฟฟ้าเมื่อมีการเผาไหร้เสร็จกระบวนการจะเหลือขี้เถ้า บริษัทฯ ก็จะนำเอาของเหลือทิ้งนี้ไปใช้ในโรงปูนเพื่อไม่ให้มีของเสียออกจากโรงงานเด็ดขาด
นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ มองว่าการใช้เทคโนโลยี CCS ยังไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด เพราะไม่สามารถเอาไปฝังได้ แต่จะต้องเอาคาร์บอนที่เก็บมาใช้ประโยชน์ให้ได้ผ่านเทคโนโลยี CCUS ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างศึกษาว่าจะเอามาใช้ในรูปแบบใด
ทั้งนี้ จากแผนการดำเนินธุรกิจกลุ่มบริษัทฯ ปี ค.ศ.2022-2043 โดยตั้งเป้าลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินจนเป็นศูนย์และเพิ่มพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น รวมถึงการปลูกป่าและก้าวสู่ Net Zero จากที่ผ่านมา ทั้งกลุ่มบริษัทฯ มีการผลิตคาร์บอนที่เฉลี่ย 13.22 ล้านตันคาร์บอนต่อปี และจะลดเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2043 เป็น Net Zero
นายภัคพล กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 440 เมกะวัตต์ โดยมีพลังงานความร้อนทิ้ง 40 เมกะวัตต์ พลังงานจากขยะ 180 เมกะวัตต์ และพลังงานจากถ่านหิน 220 เมกะวัตต์ โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะทำให้พลังงานจากถ่านหินเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2026 ทำให้ธุรกิจไฟฟ้าสู่เป้าหมาย Net Zero ทังนี โดยจะลดการปล่อยคาร์บอนได้ 1.2 ล้านตันคาร์บอนต่อปี ในขณะที่โรงปูนก็จะเริ่มลดคาร์บอนระดับ 1.6 แสนตันคาร์บอนต่อปีเช่นกัน
"เราเปลี่ยนรถทั้งหมดในเหมืองจากเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนได้ทั้งหมดกลางปี ค.ศ. 2025 จะช่วยลดคาร์บอนได้ระดับ 4.2 หมื่นตันคาร์บอนต่อปี รวมถึงการใช้ไม้สังเคราะห์ที่เป็นไม้ปลอมจะเท่ากับการปลูกต้นไม้ 1.6 แสนต้นต่อปี พร้อมรณรงค์ให้พนักงานร่วมปลูกต้นไม้สร้างสังคมสีเขียวไปสู่อนาคต"