เปิด 3 ปัจจัยเปลี่ยนระบบการค้าโลก ‘พาณิชย์’ แนะรุกหาตลาดใหม่
“พาณิชย์“ ชี้ภูมิรัฐศาสตร์กดดันโลกเผชิญอุปสรรคการค้า กำแพงภาษี การเจรจาการค้าใหม่ที่ชะลอตัว แนะโอกาสไทยรุกส่งออกตลาดค้าชายแดน กลุ่มอาหาร อาหารแปรรูป เปิดช่องทางตลาดใหม่
นายวิมล ปั้นคง รองผู้อำนวยการ (วิชาการ) สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในหัวข้อเสวนา “Geopoitics in the Modern World: Powers, Resources and Global Trade Wars ในงาน “ASEAN ECONOMIC OUTLOOK 2025” จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” วันนี้ (7 ต.ค.67) ว่า โลกเผชิญกับมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น หรือเรียกว่ามีปัญหาที่ต้องเผชิญจากการค้าโลกหลายปัจจัย ประกอบด้วย 1.อุปสรรคทางการค้า (Trade Barriers) กฏระเบียบและมาตรการที่ไม่ใช่ภาาษี (Non-Tariff Barriers) มาตรการด้านสุขอนามัย การจำกัดสินค้านำเข้า การออกใบอนุญาติ หรือการกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคที่สูงเกินไป ทำให้การค้าระหว่างประเทศวับซ้อน และมีต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหาร และสินค้าเกษตร
2.การเปลี่ยนแปลงของกฏระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Regulations) โดยกฏระเบียบเกี่ยวกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมาตรการปรับภาษีคาร์บอน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ส่งผลทำให้ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานใหม่ ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และลดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
3.ความซับซ้อนการเจรจาข้อตกลงการค้า (Complex Trade Negotiationd) ข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTAs) และการเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีความซับซ้อนและใช้เวลานานในการบรรลุข้อตกลง
"ปัจจัยที่เข้ามามีผลค่อนข้างมากคือทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่งประเทศมากขึ้น โดยจะเห็นว่าการเจรจาการค้ายุคหลังเคลื่อนตัวช้ามาก ไทยเองเจรจาการค้ากับ EU ช้า ซึ่งมาจากการที่มีเงื่อนไขเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก"
นายวิมล กล่าวต่อว่า โอกาสของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยยังมีอยู่ในตลาดการค้าชายแดน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหาร อาหารแปรรูป และเกษตร ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญ และที่สำคัญคือการสร้างความร่วมกับตลาดใหม่ๆ เช่น เอเชียใต้ แอฟริกา ตะวันออกกลาง เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐ-จีน