ครม.ไฟเขียว พ.ร.บ.ขนส่งทางราง ตั้งบอร์ดนายกฯประธาน คุมระบบรางเบ็ดเสร็จ
ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง ตั้งบอร์ดเฉพาะคุมขนส่งทางรางเบ็ดเสร็จ มีอำนาจอนุมัติเส้นทางก่อสร้าง การลงทุนระบบราง กำหนดมาตรฐาน ค่าโดยสาร รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ สอบสวนอุบัติเหตุทางราง สศช.หวังเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางราง ลดต้นทุนโลจิสติกส์
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ ... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณาแล้ว โดยขั้นตอนต่อไปจะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาตามขั้นตอนทางกฎหมาย
โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางรางของประเทศเพื่อควบคุมและกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางของประเทศให้สามารถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมขนส่งทางรางและการบริหารจัดการการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับการพัฒนาการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ ให้เป็นโครงข่ายเดียวกันอย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมรายงาน ครม.ว่าสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการกำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการขนส่งทางราง โครงการของหน่วยงานของรัฐในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการขนส่งทางราง กำหนดให้มีการจัดทำโครงการขนส่งทางรางประกอบด้วยด้านต่างๆได้แก่
1.การจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางรางเพื่อประโยชน์ในการกำหนดแนวเส้นทางเพื่อประกอบการจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางราง
2.การเสนอโครงการการขนส่งทางรางโดยแยกเป็นกรณีรถไฟและรถไฟฟ้าให้จัดทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการและรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการเสนอต่อคณะกรรมการ และกรณีรถรางให้จัดทำรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการเสนอต่อผู้มีอำนาจกำกับดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นก่อนเสนอรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบแล้วเสนอต่อคณะกรรมการ โดยโครงการใดที่มีเอกชนร่วมลงทุน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
และ 3.การดำเนินการโครงการการขนส่งทางราง โดยกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือก่อให้เกิดภาระในอสังหาริมทรัพย์เพื่อดำเนินการตามแผนพัฒนาการขนส่งทางราง กำหนดเขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัยระบบขนส่งทางรางโดยกำหนดเงื่อนไขการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นในเขตปลอดภัยระบบรถขนส่งทางราง รวมทั้งกำหนดข้อห้ามกระทำการใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งทางราง
นอกจากนี้มีอำนาจในการกำหนดประเภทของใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง มี 3 ประเภท ได้แก่ ใบอนุญาตประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่ง ใบอนุญาตประกอบกิจการเดินรถขนส่งทางราง และใบอนุญาตประกอบกิจการเพื่อการขนส่งและการเดินรถขนส่งทางราง กำหนดหน้าที่ให้ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางในการจัดให้มีประกันความเสียหาย หน้าที่ในการแจ้งเหตุที่จะทำให้การเดินรถขนส่งทางรางหยุดชะงัก เหตุฉุกเฉินหรืออุปสรรคต่อการขนส่งทางราง กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง และไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งที่เกี่ยวกับการจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง กำหนดให้
นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของการขนส่งทางรางมีหน้าที่และอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การสอบสวนอุบัติเหตุ อุบัติเหตุร้ายแรง และอุบัติการณ์ กำหนดให้มีให้ผู้ตรวจการขนส่งทางรางมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบการประกอบกิจการขนส่งทางราง กำหนดให้รถขนส่ง ทางรางที่จะให้ในการประกอบกิจการขนส่งทางรางต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียนและกำหนดประเภทรถขนส่งทางรางที่ไม่ต้องจดทะเบียน ได้แก่ พระราชพาหนะและรถขนส่งทางทหาร กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร และผู้ใช้บริการโดยเฉพาะผู้ทุพลภาพ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และเด็กด้วย
ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฯ มีหลักการสนับสนุนให้มีการบริหารจัดการการขนส่งทางราง การควบคุม การกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ การยกระดับอุตสาหกรรมการขนส่งทางรางของประเทศ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการสะดวกและปลอดภัยในการใช้บริการขนส่งทางราง รวมถึงช่วยเพิ่มศักยภาพการจากโครงสร้างพื้นฐานทางรางของประเทศ โดยมีการแยกบทบาทให้ชัดเจนระหว่างหน่วยงานกำหนดนโยบาย (Policy Maker) หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) และหน่วยงานปฏิบัติ (Operator) ตามแนวทางการปรับโครงสร้วงอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลที่ดีในการกำกับดูแล ป้องกันการขัดแย้ง ของผลประโยชน์ (Conflict of Interests) และก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม
ด้านสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ จะทำให้กรมการขนส่งทางรางมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับกิจการขนส่งทางรางตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ของหน่วยงาน อย่างไรก็ดี สศช.มีความเห็นเพิ่มเติมเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณากำหนดแนวทางการบูรณาการยุทธศาสตร์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนการกำกับดูแลกิจการทั้งทางถนน ทางอากาศ ทางราง และทางน้ำ เพื่อให้เกิดการขนส่งเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันการกำกับกิจการขนส่งแต่ละรูปแบบได้ถูกกำหนดให้มีคณะกรรมการระดับนโยบายในแต่ละด้านโดยที่ยังไม่มีกลไกที่จะทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน
นอกจากนี้ยังเห็นควรให้กรมการขนส่งทางรางพิจารณาการจัดลำดับความสำคัญของกฎหมายลำดับรองโดยเบื้องต้นเห็นควรให้เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มบทบาทของเอกชนในกิจการระบบขนส่งทางรางเพื่อให้เกิดประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกระบบรางได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ
ขณะที่สำนักงบประมาณให้ความเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ถือว่ามีประโยชน์กับการพัฒนาระบบรางของไทย โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางรางที่มีและอำนาจในการเสนอนโยบายและแผนพัฒนาการขนส่งทางราง แนวทางในการเชื่อมต่อไปยังการขนส่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอต่อครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการของหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการในการประกอบกิจการขนส่งทาง และกำหนดอัตราขั้นสูงของของค่าโดยสาร ค่าขนส่ง การใช้ประโยชน์จากรางเพื่อการขนส่ง โดยให้กรมการขนส่งทางรางรับผิดชอบงานธุรการของการกำหนดบทบัญญัติเดียวกับการจัดทำโครงการขนส่งทางราง เขตระบบขนส่งทางรางและเขตขนส่งทางราง การขออนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง และให้ผู้ตรวจการขนส่งทางรางมีหน้าที่อำนาจตรวจสอบการประกอบกิจการ การจดดทะเบียนรถขนส่งทางราง การคุ้มครองผู้โดยสารและผู้ใช้จนการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการขนส่งทางราง การบริการการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการพัฒนาขนส่งรูปแบแบบอื่นๆให้เป็นโครงข่ายเดียวกันอย่างสมบูรณ์และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันของตลาดในประเทศ
อย่างไรก็ตามมีค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นใน 3 ปีแรกจำนวนประมาณ 427 ล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาระงบประมาณในอนาคต เห็นควรให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางรางเตรียมความพร้อมให้ครบถ้วนทุกมิติ โดยคำนึงถึงภารกิจความจำเป็น ความสามารถในการดำเนินงานให้คุ้มค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น โดยสามารถเสนอของบประมาณได้ในปีต่อๆไป