สสธวท.จับมือรัฐ  เอกชนไทย-จีน จัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72  พรรษา

สสธวท.จับมือรัฐ  เอกชนไทย-จีน จัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72  พรรษา

สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพฯ ผนึกกำลังรัฐ-เอกชน-ประชาชนจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72  พรรษาแลนด์มาร์คใหม่เยาวราช ชู “มังกร” สัญลักษณ์แห่งความกตัญญู สะท้อนความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย (สสธวท) เปิดเผยว่า   สืบเนื่องจากการจัดงานกาล่าดินเนอร์เฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา สำเร็จลุล่วงไปอย่างงดงาม ซึ่งในเวลาต่อมายังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการจัดงานกาล่าดินเนอร์เฉลิมพระเกียรติฯ “เบญจกตัญญุตา” ภายใต้โครงการ “สสธวท รวมในเทิดเอกลักษณ์แห่งปัญจมังกร จารึกความกตัญญูต่อแผ่นดิน”

คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน เพื่อเป็นทุนประเดิมการก่อสร้าง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินทุนประเดิมแก่คณะกรรมการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ และขอพระบรมราชวินิจฉัย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ยังความปลื้มปิติแก่คณะกรรมการฯ เป็นอย่างมาก จึงมีปณิธานที่แน่วแน่ในการเชิญชวนให้ชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการจัดสร้างถาวรวัตถุ “ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72  พรรษา”2 แลนด์มาร์คใหม่ บนถนนเจริญกรุง

การจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูและความจงรักภักดีของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่มีต่อพระมหากษัตริย์ไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

โดยมี “มังกร” เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งมาจากแนวคิด 5ประการ ได้แก่ 1. พระมหากษัตริย์ทรงได้รับการสดุดีเป็นมังกรแห่งมวลมนุษย์ 2. นักษัตรประจำปีพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  3.ปีพุทธศักราช 2567 เป็นปีนักษัตรมังกร ตามสุริยคติ

สสธวท.จับมือรัฐ  เอกชนไทย-จีน จัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72  พรรษา

 4. วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ วัดมังกรกมลาวาส เป็นหนึ่งในศูนย์รวมพุทธศาสนิกชน และ 5. ถนนเจริญกรุงได้ชื่อว่า ถนนสายมังกร ที่สำคัญ ยังได้รับเมตตาจาก พระคณาจารย์จีน ธรรมวชิรานุวัตร (เย็นงี้) เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส มอบแนวคิดการออกแบบการก่อสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ เป็นรูปแบบซุ้มประตูตามแบบพระราชนิยมของราชวงศ์จีนตอนเหนือ

โดยบางส่วนจะเป็นลายไทยออกแบบให้ผสมผสานและแสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทยโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และเนื่องในโอกาสความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ครบรอบ 50 ปี ในปีพุทธศักราช 2568  สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้ขอน้อมเกล้าฯ ถวายหินฮั่นไป๋หวี่ (หินอ่อนหยกสีขาว) แกะสลักรูปช้าง สิงโต และกลอง เพื่อประดิษฐานที่เสาซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ด้วย

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนภาคธุรกิจไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นองค์กรภาคเอกชนไทย ที่มีเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 166,000  ราย ประกอบด้วย หอการค้าทุกจังหวัด สมาคมการค้า หอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จึงได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการจัดสร้างโครงการซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศ แสดงออกถึงความจงรักภักดี ความกตัญญูต่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ และเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคง ร่มเย็น ภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้ร่วมกันเฉลิมฉลองในวาระพิเศษครั้งนี้ เพื่อเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาติไทยสืบไป

นายณรงค์ศักดิ์  พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า หอการค้าไทย-จีน ก่อตั้งมาเป็นเวลา 114  ปี โดยกลุ่มพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพถิ่นฐาน เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และมีบทบาทในฐานะสะพานเชื่อมความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศไทยและจีนในทุกมิติ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ หอการค้าไทย-จีน สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย และสหสมาคมตระกูลแซ่แห่งประเทศไทย เป็นศูนย์รวมของนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีน ชาวจีนโพ้นทะเล และนักธุรกิจชาวจีนที่เข้ามาประกอบธุรกิจการค้าการลงทุนในประเทศไทย ต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 ก.ค. 2567   หอการค้าไทย-จีน และชาวไทยเชื้อสายจีนทั่วประเทศ ต่างมีความปลาบปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีส่วนร่วม “จัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ รอบ 72 พรรษา 28 ก.ค. 2567  อันจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูต่อแผ่นดิน ปรากฏชั่วลูกชั่วหลานสืบต่อไป

ดร.เศรษฐพงศ์ จงสงวน รองประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ กล่าวถึงรายละเอียดสถาปัตยกรรมและรูปแบบความหมายของซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ว่า เป็นศิลปะแบบจีนภาคเหนือ โดยซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ “ฐานเสา” มีสีแดงประดับด้วยลวดลายมังกรสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ตามความเชื่อว่าเป็นสัตว์มงคล จำนวน 1 คู่ ตั้งอยู่บนทางเท้าทั้งสองฝั่งของถนนเจริญกรุง

“หลังคา” สีเหลืองสามชั้น โดยตรงกึ่งกลางของหลังคาชั้นบนสุด ประดิษฐานตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ รอบ 72 พรรษา 28 ก.ค. 2567   ด้านข้างซ้ายและขวาประดับด้วยมังกรปูนปั้นระบายสี หันหน้าเข้าหาตราสัญลักษณ์ฯ สื่อถึง พสกนิกรชาวไทยเชื้อสายจีน ต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระมหากษัตริย์ ที่ทรงปกเกล้าปกกระหม่อมให้ร่มเย็นเป็นสุขภายใต้พระบรมโพธิสมภาร

ส่วน “ฐานซุ้ม” เป็นฐานปัทม์แบบศิลปะไทย ออกแบบโดยกรมศิลปากร ด้านบนประดับด้วย ประติมากรรมกลองหินแกะสลัก ถัดมาด้านหน้าและด้านหลังของซุ้ม ประดับด้วยประติมากรรมช้างกับสิงโตแกะสลัก โดยทั้งหมดนี้ทำจากหินอ่อนขาวจากประเทศจีน สนับสนุนโดยสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ทั้งนี้ ทุกขั้นตอนการก่อสร้างใช้วิธีเตรียมวัสดุก่อสร้างทั้งหมดจากโรงงาน แล้วขนส่งมาประกอบยังสถานที่ก่อสร้าง และตกแต่งศิลปกรรมต่าง ๆ เพิ่มเติม จนแล้วเสร็จ