‘รัฐบาล’ เร่งอัดเยียวยาน้ำท่วม ชง ครม.เคาะงบอุ้มเกษตรกร 3.2 พันล้าน
เกษตรฯ เสนอ ครม.ของบกลาง 3.2 พันล้านบาท ฟูื้นฟูหลังน้ำท่วม กรมการข้าวรับมากสุด 2,500 ล้านบาท ชดเชยปัจจัยการผลิต “หน่วยงานเศรษฐกิจ” นัดถกลงทุนพื้นที่อุทกภัยคู่เยียวยา โยกงบ 68 จากกระตุ้นเป็นฟื้นเศรษฐกิจ ดันลงทุนโครงการเล็กกระจายไปทั่วหวังเกิดจั๊มสตาร์ทเศรษฐกิจ
KEY
POINTS
- กระทรวงเกษตรฯ เสนอแผนฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยภายใต้งบประมาณ 3,200 ล้านบาท ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ต.ค.2567
- ด้านพืช ได้รับความเสียหาย 1.2 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ 1 ล้านไร่เป็นข้าว ที่เหลือเป็นพืชสวน และในจำนวนนี้ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง ประมาณ 6-7 แสนไร่
- รัฐบาลจ้องใช้งบโครงการดิจิทัลวอลเล็ตวงเงิน 1.83 แสนล้านบางส่วนเพื่อทำโครงการลงทุนเพื่อทำให้เม็ดเงินหมุนในเศรษฐกิจมากขึ้น”
สถานการณ์น้ำท่วม ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค.-10 ต.ค.2567 ทั่วประเทศมีพื้นที่ประสบภัยรวม 52 จังหวัด โดยยังคงมีสถานการณ์ 23 จังหวัด และมีจังหวัดกลับสู่ภาวะปกต 28 จังหวัด แต่สถานการณ์ยังไม่สิ้นสุดและยังต้องติดตามผลกระทบในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง
กระทรวงเกษตรและสหรกรณ์ได้ประเมินผลกระทบน้ำท่วมภาคเกษตร พื้นที่คาดว่าเสียหาย 1.28 ล้านไร่ (พื้นที่ภัยน้ำท่วมช่วง 14 ก.ค.-27 ก.ย.2567) โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนประกอบด้วย
1.สำรวจความเสียหายแล้ว 85.16% คิดเป็นพื้นที่ 1.09 ล้านไร่ โดยเข้ากระบวนการช่วยเหลือแล้ว 40.18% คิดเป็นพื้นที่ 516,392 ไร่ รวมทั้งสำรวจแล้วและกำลังบันทึก กษ01 รวม 44.98% คิดเป็น พื้นที่ 578,066 ไร่
2.อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย 14.84% คิดเป็นพื้นที่ 190,742 ไร่ และคาดว่าสำรวจเสร็จภายวันที่ 29 ต.ค.2567 โดยเป็นพื้นที่ที่ภัยเพิ่งเกิดหรือยังไม่ประกาศเขตภัยพิบัติ 7.63% คิดเป็นพื้นที่ 97,998 ไร่ และอยู่ระหว่างสำรวจ 7.22% คิดเป็นพื้นที่ 92,744 ไร่
นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่า นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้เร่งสำรวจความเสียหายจากน้ำท่วม โดยประสานกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปความเสียหายและเร่งช่วยเหลือเยียวยาผ่านศูนย์ป้องกันภัยจังหวัด
รวมทั้งต้องการให้ลดช่วยเหลือจาก 60 ให้เหลือไม่เกิน 45 วัน กรณีการช่วยเหลือเป็นปัจจัยการผลิต อาทิ เมล็ดพันธุ์พืช เป็ด ไก่ ควรจ่ายชดเชยเป็นเงินสดแทน ซึ่งจะประสานกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อช่วยเกษตรกรได้มากที่สุดและเร็วที่สุด โดยนางนฤมล ระบุถึงงบประมาณฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกรมี 2 ส่วน คือ
1.เงินเยียวยา จะเป็นงบประมาณทดรองจ่ายโดยทางจังหวัด ซึ่งจะแบ่งประเภทเป็นพืชไร่ พืชสวน ประมงและปศุสัตว์ เรื่องนี้กรมส่งเสริมการเกษตรจะเป็นผู้ประเมิน และประสานงานไปยังมหาดไทย เพื่อให้เงินเยียวยาออกโดยเร็วที่สุด
2.งบฟื้นฟูหลังน้ำลด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมนำเสนอของบกลาง วงเงิน 3,200 ล้านบาท โดยส่วนเกินจากนี้จะใช้งบจากกระทรวงเกษตรฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) หากผ่านการเห็นชอบจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ต.ค.2567
ลดขั้นตอนช่วยเหลือไม่เกิน65วัน
นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ กำลังสำรวจความเสียหายพื้นที่เกษตรและเร่งช่วยเหลือในส่วนการจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ การลดขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรให้เร็วขึ้นจากเดิมไม่เกิน 90 วัน เหลือไม่เกิน 65 วัน พร้อมทั้งให้ศึกษาในรายละเอียดให้มีความสอดคล้อง เหมาะสม และทันต่อสถานการณ์ อีกทั้งมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ประเมินความเสียหายเบื้องต้นก่อนน้ำลดเพื่อให้กระบวนการสำรวจเร็วขึ้น
ข้าวเสียหายมากที่สุด1ล้านไร่
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้ได้สำรวจความเสียหายของผลกระทบจากน้ำท่วมไปแล้ว 90% ทั่วประเทศ พบว่า
1.ด้านพืช ได้รับความเสียหาย 1.2 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ 1 ล้านไร่เป็นข้าว ที่เหลือเป็นพืชสวน และในจำนวนนี้ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง ประมาณ 6-7 แสนไร่
สำหรับความเสียหายกลุ่มนี้จะเสนอขอใช้เงินช่วยเหลือทดรองจ่ายตามระเบียบของกระทรวงการคลัง โดยส่งรายชื่อให้คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ภ.ช.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ภ.ช.จ. ) ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อนุมัติช่วยเหลือภายในกลางเดือน ต.ค.นี้ โดยอนุมัติแยกตามอัตราการช่วยเหลือ ดังนี้
1.ด้านพืช ข้าว 1,340 บาทต่อไร่, พืชไร่และพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่, ไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่ ครอบครัวละไม่เกิน 30 ไร่
2.ด้านประมง ช่วยเหลือผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติ กรณีสัตว์ตายหรือสูญหาย โดยช่วยเหลือกุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่
ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าว หรือร่องสวน 4,682 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 5 ไร่, สัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่นที่คล้ายกัน ตารางเมตรละ 368 บาท ไม่เกิน 80 ตารางเมตร
3.ด้านปศุสัตว์ ช่วยเหลือกระบืออายุน้อยกว่า 6 เดือน อัตราตัวละ 1,500 บาท, อายุ 6 เดือนถึง 1 ปี ตัวละ 2,400 บาท, อายุมากกว่า 1-2 ปี ตัวละ 32,000 บาท อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไปตัวละ 39,000 บาท ไม่เกินรายละ 5 ตัว
สุกรอายุ 1-30 วัน ตัวละ 1,500 บาท, สุกรอายุมากกว่า 30 วันขึ้นไปตัวละ 3,000 บาท ไม่เกินรายละ 10 ตัว, แพะแกะอายุ 1- 30 วัน ตัวละ 1,500 บาท อายุมากกว่า 30 วัน ตัวละ 3,000 บาทไม่เกินรายละ 10 ตัว
ไก่พื้นเมือง ไก่งวง อายุ 1-21 วัน ตัวละ 30 บาท อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไปตัวละ 80 บาท ไม่เกินรายละ 300 ตัว, ไก่ไข่อายุ 1-21 วันตัวละ 30 บาทอายุมากกว่า 21 วันขึ้นไปตัวละ 100 บาทไม่เกิน 1,000 ตัว,
ไก่เนื้ออายุ1-21 วัน ตัวละ 20 บาทอายุมากกว่า 21 วันขึ้นไปตัวละ 50 บาทไม่เกิน 1,000 ตัว, เป็ดไข่อายุ 1-21 วันตัวละ 30 บาท อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไปตัวละ 100 บาทไม่เกิน 1,000 ตัว
นกกระทาอายุ 1-21 วันตัวละ 10 บาท อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไปตัวละ 30 บาท รายละไม่เกิน 1,000 ตัว และนกกระจอกเทศตัวละ 2,000 บาทไม่เกิน 10 ตัว ห่าน ตัวละ100 บาทไม่เกิน 300 ตัว
เตรียมเมล็ดพันธุ์ช่วยเกษตรกร
นอกจากนี้ สั่งการให้เตรียมการสนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยศูนย์ขยายพันธุ์พืช (ศขพ.) 10 แห่ง เตรียมเมล็ดพันธุ์และต้นพันธุ์พืชอายุสั้นที่ปลูกเพื่อเป็นอาหาร ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ เช่น เมล็ดพันธุ์พืชผัก จำนวน 137,000 ซอง ประกอบด้วย พริก มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ถั่วพู และกระเจี๊ยบเขียว ต้นพันธุ์พืชผักพืชอาหาร จำนวน 28,000 ซอง และต้นพันธุ์ไม้ผลไม้ยืนต้น
รวมทั้งศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านการอารักขาพืช (ศทอ.) จำนวน 9 แห่ง ได้ดำเนินการจัดเตรียมเชื้อราไตรโคเดอร์มา ทั้งแบบพร้อมใช้และหัวเชื้อขยาย พร้อมสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรนำใช้ในการฟื้นฟูป้องกันเชื้อสาเหตุโรคพืชสำหรับพื้นที่เพาะปลูกไม้ผลหลังน้ำลด
และยังเปิดจุดบริการซ่อมเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยให้กับเกษตรกร เกษตรกรสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่
“นฤมล”ชง ครม.พรุ่งนี้ของบ 3.2 พันล้าน
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะเสนอแผนฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยภายใต้งบประมาณ 3,200 ล้านบาท ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ต.ค.2567 หลังจากได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม (ศปช.) ที่มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
สำหรับแผนฟื้นฟูฯ แบ่งเป็นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ออกเป็นประเภทพืชไร่ พืชสวน ประมงและปศุสัตว์ ซึ่งในส่วนของนาข้าวที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้รับจัดสรรงบกลาง 2,500 ล้านบาทสำหรับการชดเชยและช่วยเหลือปัจจัยการผลิต
พืชได้รับความเสียหายหนัก40จังหวัด
ทั้งนี้ ความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้ แบ่งตามพื้นที่ได้ ดังนี้
1.ด้านพืช ได้รับความเสียหาย 40 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานีกาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บึงกาฬ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร
หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด นครนายก ปราจีนบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี อ่างทอง กระบี่ ตรัง และจังหวัดสตูล
สำรวจพบความเสียหายสิ้นเชิงแล้ว เกษตรกร 76,758 ราย พื้นที่ 618,882 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 562,545 ไร่, พืชไร่และพืชผัก 49,961 ไร่, ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่นๆ 6,376 ไร่ คิดเป็นเงิน 878.98 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว 2,073 ราย พื้นที่ 11,571 ไร่ วงเงิน 17.08 ล้านบาท
2.ด้านประมง ได้รับความเสียหาย 23 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น บึงกาฬ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี กาญจนบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ภูเก็ตและสตูล
สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 3,828 ราย พื้นที่รวม 4,256 ไร่ กระชัง 6,636 ตร.ม. คิดเป็นเงิน 25.90 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว 837 ราย พื้นที่ 743 ไร่ กระชัง 6,374 ตร.ม. วงเงิน 5.45 ล้านบาท
3.ด้านปศุสัตว์ ได้รับความเสียหาย 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน สุโขทัย อุตรดิตถ์ ขอนแก่น มหาสารคาม หนองคาย อุบลราชธานี จันทบุรี และตราด
สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 1,146 ราย สัตว์ตาย/สูญหายรวม 90,212 ตัว แบ่งเป็น โค 382 ตัว กระบือ 46 ตัวสุกร 147 ตัว แพะ/แกะ 66 ตัว และสัตว์ปีก 89,571 ตัว
รัฐบาลเตรียมเพิ่มงบประมาณเยียวยา
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย รายงานความเสีหายและผลกระทบเบื้องต้นให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและดินโคลนถล่ม (ศปภ.) ว่าสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่ม ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.-10 ต.ค.2567 ส่งผลให้เกิดอุทกภัยและดินถล่ม 45 จังหวัด 278 อำเภอ 1,211 ตำบล
ทั้งนี้บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 244,294 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิตจากอุทกภัย 29 ราย ผู้เสียชีวิตจากดินถล่ม 23 ราย รวมผู้เสียชีวิต 52 ราย ผู้บาดเจ็บ 28 ราย
นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลความเสียหายผลกระทบด้านระบบสื่อสาร สัญญาณโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต สถานีสื่อสารโทรคมนาคมให้บริการไม่ได้อีกมาก รวมทั้งถนน สะพานหลายจุดต้องจัดสรรงบประมาณลงไปฟื้นฟู
โดยอยู่ระหว่างเพิ่มเติมจากงบประมาณที่รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางเพื่อช่วยเหลือเยียวยาพื้นที่อุทกภัยไปแล้ว 3,045.5 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้นำไปปรับเกณฑ์การจ่ายชดเชยผู้ประสบอุทกภัยได้รับเงินช่วยเป็นเกณฑ์เดียวคือ 9,000 บาทต่อตครัวเรือน
รวมทั้ง กรมบัญชีกลางเพิ่มเงินสำรองราชการสำหรับจังหวัดที่ประสบอุทกภัยรุนแรง 5 จังหวัด จังหวัดละ 100 ล้านบาท ขณะที่หลายหน่วยงานเตรียมเสนอของบกลางเพื่อซ่อมแซมปรับปรุงพื้นที่หรือช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เช่น กระทรวงเกษตรฯ เสนอ ครม.ของบประมาณ 3,700 ล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกรหลังจากที่สถานการณ์น้ำท่วมลดลงและเข้าสู่การเพาะปลูกสินค้าเกษตรอบใหม่
จ่อโยกงบกระตุ้นเศรษฐกิจปี 68 มาฟื้นฟู
“มีแนวโน้มสูงที่รัฐบาลจะต้องใช้งบเพิ่มขึ้นในการเยียวยาและฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งรัฐบาลมีงบกลางของปี 2568 และงบประมาณอีกส่วนที่เดิมเตรียมไว้ใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตวงเงิน 1.83 แสนล้านมาใช้ได้ โดยอาจนำมาใช้บางส่วนเพื่อทำโครงการลงทุนเพื่อทำให้เม็ดเงินหมุนในเศรษฐกิจมากขึ้น”
นอกจากการเยียวยาแล้วหน่วยงานเศรษฐกิจกำลังหารือแนวทางการฟื้นฟูอุทกภัยควบคู่กับการลงทุนโครงการขนาดเล็กในชนบท ได้แก่ กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ
โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสียหายจากอุทกภัยมากที่ต้องซ่อมสร้างสาธารณูปโภค ซึ่งโครงการลักษณะนี้จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินไปยังภาคส่วนเศรษฐกิจอื่น โดยเฉพาะภาคเอกชนและประชาชนจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้