‘คลัง’ จ่ออัดซอฟต์โลนอีก 5 หมื่นล้าน ฟื้นท่องเที่ยว-ภาคธุรกิจจากน้ำท่วม

‘คลัง’ จ่ออัดซอฟต์โลนอีก 5 หมื่นล้าน ฟื้นท่องเที่ยว-ภาคธุรกิจจากน้ำท่วม

“คลัง”เตรียมชงเพิ่มเม็ดเงินเยียวยาน้ำท่วมอัดซอฟต์โลนเพิ่มอีก 5 หมื่นล้าน ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม เน้นกลุ่มผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยว ให้ฟื้นฟูทันหลังท่องเที่ยว นายกฯ สั่งเร่งสำรวจพื้นที่เสียหายทางการเกษตรก่อนเยียวยาเกษตรกร

KEY

POINTS

  • สถานการณ์น้ำท่วมที่เริ่มคลี่คลายในหลายจังหวัด ทำให้รัฐบาลต้องเริ่มจัดทำมาตรการฟื้นฟูเยียวยาน้ำท่วม 
  • กระทรวงการคลัง ได้รายงานมาตรการที่จะเสนอเยียวยาเพิ่มเติมอีก 3 มาตรการ ให้ที่ประชุม ครม.รับทราบ ซึ่งมีทั้งมาตรการสินเชื่อ และมาตรการทางภาษี โดยมาตรการสินเชื่อจะมีการจัดทำซอฟต์โลน 5 หมื่นล้าน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ และท่องเที่ยวให้ฟื้นได้ทันช่วงไฮซีซัน 
  • นายกรัฐมนตรีสั่งเร่งสำรวจความเสียหายในภาคเกษตรก่อนให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุม 
  • นายกรัฐมนตรีเตรียมคิกออฟงานกระตุ้นเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมดึงภาคเอกชนรายใหญ่ลดราคาสินค้า 5 เดือน 

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ต.ค.2567 รับทราบแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในส่วนของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีการออกมาตรการมาดูแลประชาชนภายหลังจากที่มีการอนุมัติเงินช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 9,000 บาท และได้มีการอนุมัติเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดบ้านเรือนจากดินโคลนหลังละ 10,000 บาท 

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้รายงานมาตรการในการช่วยเหลือที่มีการออกจากกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยให้ ครม.รับทราบ โดยมาตรการที่จะมีการออกเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเยียวยาเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม นายพิชัยกล่าวว่า มี 3 มาตรการได้แก่

1.มาตรการสินเชื่อเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Soft Loan) เพิ่มเติมอีก 50,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม โดยเน้นที่กลุ่มผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้ฟื้นฟูทันช่วงไฮซีซัน

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังได้มีการออก Soft Loan วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5 % ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี โดยให้วงเงินรายละไม่เกิน 40 ล้านบาท โดยสามารถขอรายละเอียดของสินเชื่อก้อนนี้ได้จาก ธนาคารที่ใช้บริการโดยจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมในส่วนนี้

2.มาตรการลดหย่อนภาษี โดยจะกำหนดให้รายจ่ายการซื้ออุปกรณ์ และวัสดุก่อสร้าง และตกแต่งบ้านในพื้นที่น้ำท่วม สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชน

3.มาตรการขยายระยะเวลาการยื่นแบบชำระภาษี รวมถึงการยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับเครื่องจักร และชิ้นส่วน ที่เกิดจากการลงทุนเพื่อทดแทนความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งทั้ง 3 มาตรการ อยู่ระหว่างการออกประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) และประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดว่าจะนำเสนอเข้า ครม.ได้ภายในเดือนต.ค.2567

สำหรับมาตรการที่กระทรวงการคลัง ได้ออกมาตรการช่วยเหลือทั้งด้านภาษี การลดค่าใช้จ่ายตลอดจนสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูบ้านพักอาศัย และกิจการ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล เท่ากับจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แก่บริษัท และห้างหุ้นส่วนสำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันเพื่อชดเชยความเสียหายจากอุทกภัย 

ทั้งนี้ เงินช่วยเหลือที่ได้รับจากรัฐบาล และเงินชดเชยที่ได้จากบริษัทประกันภัยไม่ต้องนำไปนับรวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษี รวมถึง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับสิ่งของที่นำเข้ามาเพื่อบริจาคแก่ผู้ประสบอุทกภัย

“ธนารักษ์” ลดค่าเช่าพื้นที่น้ำท่วม

กรมธนารักษ์ ลดค่าเช่าที่ราชพัสดุแก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยมีหลักเกณฑ์การเช่าเพื่ออยู่อาศัยหากเสียหายบางส่วน ยกเว้นค่าเช่า 1 ปี แต่หากที่พักเสียหายทั้งหลัง ยกเว้นค่าเช่าให้ 2 ปี การเช่าเพื่อการเกษตร ยกเว้นค่าเช่าให้ 1 ปี การเช่าเพื่อประโยชน์อย่างอื่น หากไม่สามารถทำกิจการได้ตามปกติเกิน 3 วัน ยกเว้นค่าเช่าเป็นรายเดือน ยกเว้นการคิดเงินเพิ่มเติม ให้แก่ผู้เช่าที่จ่ายค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากประสบอุทกภัย

‘คลัง’ จ่ออัดซอฟต์โลนอีก 5 หมื่นล้าน ฟื้นท่องเที่ยว-ภาคธุรกิจจากน้ำท่วม

นอกจากนี้ยังมีสินเชื่อ Soft loan เพื่อช่วยเหลือซ่อมแซม และฟื้นฟูอาคารบ้านเรือน กิจการ ตลอดจนมาตรการลดภาระหนี้สิน ลดอัตราดอกเบี้ย และพักหนี้ให้แก่ผู้กู้ที่ประสบอุทกภัย ได้แก่ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี 

โดยให้วงเงินรายละไม่เกิน 40 ล้านบาท โดยสามารถขอรายละเอียดของสินเชื่อก้อนนี้ได้จากธนาคารที่ใช้บริการอยู่ หรือธนาคารใกล้บ้าน (มี 16 ธนาคารที่เข้าร่วม)

“ออมสิน”ขยายเวลาเงินกู้ช่วยเหลือ

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โครงการ SMEs No One Left Behind เป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 1,000 ล้านบาท โดยมีวงเงินค้ำประกันต่อราย 10,000 บาท ถึง 2 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 1.25% ต่อปี และระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี

ธนาคารออมสิน ช่วยเหลือลูกหนี้เดิม ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้น และไม่คิดดอกเบี้ย 6 เดือน สำหรับสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท และช่วยเหลือผู้ถือบัตรเครดิต ด้วยการปรับลดอัตราชำระขั้นต่ำเป็น 3% ให้ 3 รอบบัญชี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีสถานะปกติ หรือ ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ขอขยายเวลาการชำระหนี้สูงสุดถึง 20 ปี มีระยะปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยปรับทั้งจำนวน และมีมาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับเสริมสภาพคล่อง และใช้จ่ายค่าอุปโภค และบริโภคที่จำเป็น วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี โดย 6 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ย 0% ที่เหลืออัตรา MRR 

และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าลงทุนซ่อมแซมบ้าน ค่าซ่อมเครื่องมือ และอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนเป็นค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี

ธอส.ลดเงินค่างวด 50%

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ให้การช่วยเหลือแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ด้วยการลดเงินงวดที่ชำระ 50% และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 2% เป็นเวลา 6 เดือน สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดย 6 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ย 0% ระยะเวลาที่เหลืออัตราดอกเบี้ย 1% สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี โดย 6 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ย 0% และผ่อน 1,000 บาทต่องวด ระยะเวลาที่เหลืออัตราดอกเบี้ย 1%

สำหรับการขอสินเชื่อใหม่หรือสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย สามารถขอกู้ได้ถึง 2 ล้านบาทต่อ 1 หลักประกัน อัตราดอกเบี้ย 3 เดือนแรก 0% ระยะเวลาที่เหลือตามเงื่อนไขของการผ่อนชำระ (โดยมีตั้งแต่ 2-6%) และยังมีการให้ค่าสินไหมทดแทนเร่งด่วนแก่ผู้ทำกรมธรรม์ประกันภัยที่อยู่อาศัย โดยจ่ายตามความเสียหายจริงไม่เกิน 20,000 บาท

เติมเงินทุนฉุกเฉินฟื้นฟูกิจการ

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มีมาตรการพักหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะอัตรากำไร ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มีมาตรการพักชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ย กรณีกู้ยืมเงิน Fixed Loan พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ในกรณีตั๋วสัญญาใช้เงิน จะขยายเวลาชำระตั๋วสัญญาใช้เงินไปอีกไม่เกิน 180 วัน 

รวมทั้งยังมีมาตรการเติมทุนฉุกเฉินฟื้นฟูกิจการ หากมีธุรกิจอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ให้วงเงินเพิ่ม 10% ของวงเงินอนุมัติสินเชื่อ ส่วนธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงินสูงสุด 180 วัน

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าสำหรับมาตรการเยียวยาภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยวงเงิน 3.2 พันล้านบาท ยังไม่ได้เข้าสู่การประชุม ครม.ในวันนี้โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายให้ชัดเจนเพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือได้อย่างครบถ้วนครอบคลุม

นายกฯ คิกออฟฟื้นฟูเศรษฐกิจ

วันที่ 16 ต.ค.2567 นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการเปิดงาน “โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยจะบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนรายใหญ่ อาทิ 

กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ห้างค้าส่ง-ค้าปลีก และปั๊มน้ำมัน 

ทั้งนี้ เป็นการดึงคนตัวใหญ่มาช่วยคนตัวเล็กในประเทศ เพื่อช่วยลดรายจ่ายให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ลดค่าเช่าแผง/ร้านค้า ในพื้นที่หน่วยงานราชการและเอกชน ลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนทั้งประเทศ และจัดมหกรรมลดราคาสินค้า ต่อเนื่องตลอด 5 เดือนเต็ม โดยจัดกิจกรรมนำร่องตั้งแต่เดือนก.ย.2567 จนถึงเดือนม.ค.2568

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์