'ณัฐพงษ์' แนะนายกฯ ให้รัฐบาลใช้ 'Geocoding' เยียวยาน้ำท่วมได้เร็วกว่า
'ณัฐพงษ์' แนะ 'นายกฯอิ๊งค์' พิจารณาให้รัฐบาล ใช้เทคโนโลยี 'Geocoding' ช่วยเยียวยาน้ำท่วม ทำได้เร็วกว่า ไม่ต้องรอหนังสือรับรองผู้ประสบภัย ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังภัยพิบัติได้รวดเร็ว
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2567 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีรัฐบาลประชาสัมพันธ์ขอให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบหนักจากเหตุน้ำท่วม ให้รีบไปขอ “หนังสือรับรองผู้ประสบภัย” จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ประสบภัย ว่าแม้เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐพยายามสื่อสารให้ประชาชนทราบถึงขั้นตอนการรับการเยียวยาเพื่อหลีกเลี่ยงการตกหล่น แต่ปัญหาสำคัญคือกระบวนการเพื่อขอรับการเยียวยาผ่านหนังสือรับรองผู้ประสบภัยนั้น อาจเพิ่มภาระแก่ประชาชนเกินกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับความยากลำบากที่ผู้ประสบภัยเผชิญอยู่แล้ว เพราะนอกจากประชาชนจะต้องไปขอหนังสือรับรองฯ จาก อปท. กระบวนการหลังจากนั้นคือต้องมีการประชาคมในระดับหมู่บ้าน ต้องรอการอนุมัติจากคณะกรรมการภัยพิบัติระดับอำเภอและจังหวัด ระยะเวลาดำเนินการกำหนดไว้ยาวนานถึง 90 วัน
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนจึงขอย้ำข้อเสนอเดิมที่เคยอภิปรายในสภาฯ ว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องนำระบบ Geocoding มาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพิจารณาเยียวยาประชาชน โดยรัฐบาลสามารถใช้ภาพถ่ายดาวเทียม จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) มาซ้อนทับกับข้อมูลบ้านเลขที่ ตามพิกัดที่อยู่บนแผนที่โลก (Geocoding) ซึ่งประเทศไทยมีการใช้ระบบนี้ในการทำงานของการไฟฟ้าฯ การประปา และไปรษณีย์ไทย มีข้อมูลบ้านเลขที่และตำแหน่งพิกัดของบ้านอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยถูกนำมาใช้กับกรณีที่ควรจะใช้ได้อย่างการเยียวยาน้ำท่วม
โดยรัฐบาลสามารถนำฐานข้อมูลนี้มาใช้พิจารณาให้เงินชดเชยผู้ประสบภัยโดยอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้ทันที หรือจะให้ประชาชนเข้าไปกดขอ ถ้าตรวจสอบแล้วข้อมูลตรงกับ Geocoding ว่าน้ำท่วมจริง ก็จ่ายโอนกันแบบนั้นเลย หรือจะจ่ายเป็นบางส่วนก่อนก็ได้เพื่อความรวดเร็วและช่วยเหลือให้ทันต่อความจำเป็นของผู้ประสบภัย
หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวด้วยว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลโดยนายกฯ จะนำข้อเสนอนี้ไปพิจารณา เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่ตนเคยเสนอมาตรการเที่ยวเมืองน้ำลดและการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่เอกชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งยินดีที่รัฐบาลได้ขยับนโยบายตรงตามกับข้อเสนอของเรา จนมีมาตรการอย่าง “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” ออกมา แม้จะมีความแตกต่างกันบ้างแต่ก็ขอสนับสนุนเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจหลังภัยพิบัติได้โดยเร็วที่สุด