แพ็ครวมคืบหน้านโยบายลดค่าใช้จ่าย ทางด่วน-รถไฟฟ้า20 บาทตลอดสาย

แพ็ครวมคืบหน้านโยบายลดค่าใช้จ่าย  ทางด่วน-รถไฟฟ้า20 บาทตลอดสาย

การคมนาคมขนส่งเป็นปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่หากต้นทุนด้านการเดินทางสูงนั่นหมายถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงตามไปด้วย

เท่ากับว่าขีดความสามารถประชาชนที่เป็นกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจจะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม คือ “ลดลง”ดังนั้น การลดต้นทุนการเดินทางของประชาชนก็เป็นแรงเหวี่ยงที่สำคัญทางเศรษฐกิจทั้งในแง่การเพิ่มขีดความสามารถการทำมาหากิน และการลดค่าครองชีพให้ประชาชน 

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจากับเอกชนเพื่อผลักดันนโยบายปรับลดอัตราค่าผ่านทางสูงสุดไม่เกิน 50 บาท โดยระบุว่า ปัจจุบันการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้หารือร่วมกับ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือBEM ในฐานะผู้รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 เพื่อปรับลดอัตราค่าผ่านทางแล้ว

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอขอความเห็นชอบการแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน - ปากเกร็ด(ฉบับแก้ไข) ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ ได้ในเดือน ธ.ค. 2567 และเริ่มปรับลดอัตราค่าผ่านทางในเดือน ม.ค. 2568

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ กทพ. ไปเจรจาร่วมกับ BEM เพื่อให้ลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9(Double Deck) มูลค่าประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร ในการลงทุนก่อสร้าง Double Deck ของ BEM ในครั้งนี้ จะขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอเรื่องการแก้ไขสัญญาฯ ต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(PPP)และเสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

สำหรับการปรับลดอัตราค่าผ่านทางและการปรับปรุงระบบค่าผ่านทาง โดยในเบื้องต้นจะยกเลิกด่านประชาชื่น(ขาออก) และด่านอโศก 3 ซึ่งมีปริมาณจราจรหนาแน่น เพื่อให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น และจะทำการปรับเพิ่มช่องเก็บค่าผ่านทางแบบอัตโนมัติ (ETC) แบบไม่มีไม้กั้น และลดจำนวนช่องเก็บค่าผ่านทางแบบเงินสด (MTC) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง และจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งผู้ใช้ทางจ่ายค่าผ่านทางในราคาที่เหมาะสม และคุ้มค่าเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ การดำเนินการปรับลดค่าผ่านทางบนโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัช ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้ทางพิเศษในปีงบประมาณ 2566 เฉลี่ย 968,150 คัน/วัน จากจำนวนผู้ใช้ทางพิเศษเฉลี่ยรวมทุกสายทาง 1,715,306 คัน/วัน หรือ 56% ของปริมาณจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษทั้งหมด โดยผู้ใช้ทางจะได้รับประโยชน์ สามารถเดินทางข้ามระบบทางพิเศษในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครโดยจ่ายค่าผ่านทางในอัตราสูงสุดไม่เกิน 50 บาท สำหรับรถยนต์ 4 ล้อ อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้สูงสุด 30 นาที/เที่ยว

จากผลการศึกษาของ กทพ. ระบุว่าการปรับลดค่าผ่านทางดังกล่าว สามารถทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนได้ 1,200-3,000 ล้านบาท/ปีตลอดอายุโครงการ รวมถึงไปจนถึงผลบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะในด้านการประหยัดเวลาการเดินทาง (Value of Time Saving) มูลค่ามากกว่า 1,300 ล้านบาท/ปี

ด้านความคืบหน้านโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแถลงภายหลังประชุมครม.(15 ต.ค. 2567) ว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง ร่วมกันศึกษาแนวทางการดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล

โดยนโยบายนี้ เป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย และถ้าคนมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นก็จะช่วยลดมลพิษด้วย โดยการศึกษาของทั้ง 2 กระทรวง ขอให้คำนึงผลประโยชน์ที่ได้รับ ความคุ้มค่าทางการเงิน รวมไปถึงแหล่งที่มาของกิจการว่าจะจัดการอย่างไร และจะชี้แจงได้อย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ได้เร็วที่สุด

ด้านสุริยะกล่าวว่า การศึกษาการดำเนินงานอาจเป็นรูปแบบตั้งกองทุน สำหรับซื้อสัมปทานรถไฟฟ้านำกลับมาเป็นของรัฐ เพื่อจะได้กำหนดราคาค่าโดยสารได้ โดยที่ผ่านมาจากนำร่องรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในบางเส้นทาง ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% สะท้อนว่าหากมีการปรับลดค่าโดยสารลง ประชาชนจะหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และลดปัญหา PM 2.5

“กระทรวงคมนาคมยังสามารถให้คำมั่นได้ว่าในเดือนก.ย. 2568 รถไฟฟ้าทุกเส้นทาง จะคิดค่าโดยสารในอัตรา 20 บาทตลอดสายได้ทั้งหมด เพราะได้เตรียมแหล่งเงินสำหรับใช้ชดเชยเอาไว้แล้ว บางส่วนนำมาจากส่วนแบ่งที่ได้จากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ดังนั้นประชาชน จะได้ใช้บริการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกเส้นทาง ในเดือนกันยายน ปีหน้า อย่างแน่นอน”

พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการศึกษาจะครอบคลุมไปถึงผลประโยชน์ที่อาจได้รับ ความคุ้มค่าทางการเงิน แหล่งเงินทุน เพื่อหาโครงสร้างในการจัดทำค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายต่อไปส่วนประเด็นการการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อซื้อคืนรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนนั้น จะมีกรอบวงเงินอยู่ที่ใดนั้น เบื้องต้นกระทรวงการคลัง ขอไปศึกษารายละเอียดก่อน แต่คาดว่ากองทุนน่าจะมีขนาดประมาณ 2-3 แสนล้านบาท

ล่าสุด ประชุมครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ ... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณาแล้ว โดยขั้นตอนต่อไปจะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาตามขั้นตอนทางกฎหมาย

สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการกำหนดให้มี“คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง”ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการขนส่งทางราง โครงการของหน่วยงานของรัฐในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการขนส่งทางราง กำหนดให้มีการจัดทำโครงการขนส่งทางรางต่างๆ

“คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางรางที่มีและอำนาจในการเสนอนโยบายและแผนพัฒนาการขนส่งทางราง แนวทางในการเชื่อมต่อไปยังการขนส่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอต่อครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการของหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการในการประกอบกิจการขนส่งทาง และกำหนดอัตราขั้นสูงของของค่าโดยสาร ค่าขนส่ง การใช้ประโยชน์จากรางเพื่อการขนส่ง”

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เมื่อกระบวนการร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางเสร็จสิ้นจะสอดรับกับเป้าหมายการประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในทุกสีทุกสายได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกระทรวงฯ ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานที่มีอยู่กับผู้ประกอบการเอกชน เนื่องจากภาครัฐจะจัดหางบประมาณที่จะนำไปชดเชยให้กับผู้ประกอบการเอกชน ในส่วนต่างค่าโดยสารที่สูงเกินกว่า 20 บาท

โดยแนวทางจัดหางบประมาณชดเชยเอกชน กระทรวงฯ จะจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม นำรายได้จากการบริหารรถไฟฟ้าที่มีผลกำไรมาจัดสรรเข้ากองทุน รวมไปถึงแนวทางจัดหารายได้ในส่วนอื่นๆ

เบื้องต้นกระทรวงฯ ประเมินวงเงินที่ใช้หมุนเวียนในกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม เพื่อชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารรถไฟฟ้าอยู่ที่ 7 – 8 พันล้านบาทต่อปี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเสนอรายละเอียดต่างๆ ซึ่งคาดว่า จะเริ่มดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อจัดตั้งกองทุนฯ ได้ในช่วงเดือน ต.ค. 2568 – มี.ค.2569

การขนส่งที่สำคัญไม่ได้มีเพียงค่าทางด่วน และรถไฟฟ้าเท่านั้น แต่หากเริ่มต้นจากโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ได้ก็จะเป็นแรงส่งไปยังโครงการขนส่งอื่นๆที่เป็นรูปแบบความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนให้สามารถจัดทำระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อค่าครองชีพของประชาชนโดยถ้วนหน้า

แพ็ครวมคืบหน้านโยบายลดค่าใช้จ่าย  ทางด่วน-รถไฟฟ้า20 บาทตลอดสาย