‘บอร์ดคลาวด์เฟิร์สฯ’ คลอด 8 แนวทาง รับคลื่นลงทุน คลาวด์-ดาต้าเซนเตอร์ ในไทย
รองนายกฯ “ประเสริฐ” ประชุม คกก. เฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก วาง 8 แนวทางทางการใช้ คลาวด์รองรับ “รัฐบาลดิจิทัล” ปูทางไทยเป็นผู้นำคลาวด์ ในภูมิภาค
วันนี้ (17 ตุลาคม 2567) ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) ครั้งที่ 2/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เข้าร่วมด้วย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) รวมทั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางการบริการคลาวด์ภาครัฐ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้มุ่งมั่นขับเคลื่อนสู่การเป็น “รัฐบาลดิจิทัล” เพื่อให้การบริการของภาครัฐ มีประสิทธิภาพมากขึ้น และตอบสนองความต้องการแก่ประชาชนได้อย่างตรงจุด ขณะเดียวกันภาคธุรกิจหลายแห่งได้ให้ความสำคัญ และเริ่มลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุน Cloud และ Data Center อาทิ บริษัท Google และ DAMAC GROUP ที่ได้ประกาศแผนการลงทุนในประเทศไทยแล้ว
นอกจากนี้ยังมีบริษัทหลายแห่งที่มีฐานการลงทุนภายในประเทศไทยริเริ่มการขยายโครงสร้างพื้นฐานในการลงทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงทำให้เห็นถึงโอกาสที่ Cloud ประเทศไทยจะเจริญเติบโตขึ้นในอนาคต โดยหวังว่าการประชุมในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งการกำหนดทิศทาง Cloud เพื่อสร้างให้ประเทศไทยเป็นผู้นำ Cloud ในภูมิภาคต่อไป
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวให้ข้อสังเกตถึงมาตรฐานความปลอดภัยและความมั่นคงของข้อมูลในระบบ ถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อไม่สร้างความกังวลต่อประชาชนในการใช้ระบบ Cloud ระหว่างอยู่ต่างประเทศ จึงมีความจำเป็นที่ศึกษากฎหมายและระเบียบมาตรฐานของต่างประเทศเพิ่มเติม เพื่อให้มีความรัดกุมต่อการเข้าถึงข้อมูลของระบบ Cloud ของประเทศไทย ซึ่งข้อเสนอในที่ประชุมเกี่ยวกับการเสนอแนวทางกำหนดประเภทของข้อมูลที่ห้ามทำสำเนาออกนอกประเทศ ถือเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดกรอบทิศทางของระบบ Cloud ในอนาคตให้มีความเหมาะสม พร้อมต่อการใช้งาน สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานและเงื่อนไขทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
สำหรับที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ เช่น เห็นกรอบแนวทางการบริหารจัดการระบบคลาวด์ภาครัฐ ประกอบไปด้วย 8 แนวทาง ได้แก่
1.การใช้ Service ของ Public Cloud
2.การออกแบบระบบงานที่ใช้ Services ต่าง ๆ บนระบบ Cloud
3.การใช้ระบบและองค์ประกอบมาตรฐานของ Cloud
4.การปรับแต่งฟังก์ชัน (Function) หรือบริการ (Service) ต่าง ๆ ให้น้อยที่สุด ใช้การปรับแต่งระบบงานแทน (Avoid customization)
5.การติดตามการใช้และความสมบูรณ์ของระบบ
6.การติดตั้งระบบความมั่นคงปลอดภัยของระบบงานและ Application อย่างเหมาะสม และตรวจสอบความสมบูรณ์ของระบบงาน การปฏิบัติงาน ของผู้ให้บริการ Cloud อย่างสม่ำเสมอ
7.การจัดหาบริการ และผลิตภัณฑ์ ให้รัฐบาลเป็นผู้เห็นชอบกรอบ บันทึกข้อตกลงสัญญากันก่อน
แล 8.การจัดทำงบประมาณสำหรับโครงการที่จะเข้าข่ายการใช้คลาวด์เป็นหลัก