แอร์ไลน์ส่งโจทย์ถึงท่าอากาศยาน ชี้“จัดการภาคพื้นดิน”ต้นทุนสำคัญธุรกิจ
อุตสาหกรรมการบินเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ สามารถชี้อนาคตของทั้งตัวการบินเอง และการท่องเที่ยว สำหรับประเทศไทยมีหน่วยงานด้านการบินที่สำคัญอย่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กระทรวงคมนาคม
ได้เข้าร่วมการประชุมเจรจาธุรกิจการบิน “The 29th World Route Development Forum” ในงาน Route World 2024 ที่บาห์เรน เมื่อเร็วๆนี้
การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ จากสายการบิน ท่าอากาศยาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวจากทั่วโลกมากกว่า 730 หน่วยงาน
โดย ทอท. เข้าร่วมการประชุมฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มรายได้ที่เกี่ยวกับกิจการการบิน (Aeronautical Revenue) เพิ่มเส้นทางบินใหม่ รวมทั้งเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางบินเดิมมายังท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ของ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคตามนโยบายรัฐบาล
“ทอท. ทำการตลาดเชิงรุกผ่านการเจรจาธุรกิจร่วมกับสายการบินต่าง ๆ เช่น สายการบินอินดิโก ประเทศอินเดีย สายการบินสกู๊ต สาธารณรัฐสิงคโปร์ และสายการบินแอร์เอเชียแคมโบเดีย ประเทศกัมพูชา และให้ข้อมูลเส้นทางบินที่มีศักยภาพเพื่อเชิญชวนให้สนใจเปิดเส้นทางบินใหม่”
นอกจากนี้ ได้เจรจาธุรกิจร่วมกับท่าอากาศยานเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อเส้นทางบินกับท่าอากาศยานของ ทอท. เช่น
ท่าอากาศยานลอนดอน ฮีทโธรว์ ท่าอากาศยานอิสตัลบูล และท่าอากาศยานเวียนนา รวมทั้งได้นำเสนอและติดตามรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางการบิน (Air Service Development (ASD) Feasibility Study Report) ระหว่างท่าอากาศยานของ ทอท. และท่าอากาศยานต่างประเทศ
โครงการสนับสนุนการตลาดเพื่อเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (Marketing Fund) เพื่อเป็นการดึงดูดสายการบินให้สนใจเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศมายังท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และท่าอากาศยานหาดใหญ่เพิ่มขึ้น โครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้แทนสายการบิน ได้แก่ ไห่หนานแอร์ไลน์ เวียดนามแอร์ไลน์ และจุนเหยาแอร์ไลน์ รวมทั้งมีโอกาสขยายตลาดให้กับท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักในภาคเหนือของ ทอท. ให้เป็นที่รู้จักของสายการบินมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การเข้าร่วมประชุมฯ เป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ที่ดีตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศไทย ส่งผลให้มีการค้าและการลงทุน การสร้างงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงและยั่งยืน
ในเวทีสัมมนาหนึ่งในงาน "Route World 2024“เรื่อง ”Airlines Give Pointers On How To Secure Routes" หรือ
“สายการบินให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการรักษาความปลอดภัยเส้นทาง”สาระสำคัญเล่าถึงความต้องการจากสายการบินต่อระบบบริหารจัดการท่าอากาศยานต่างๆ เพราะการจัดการภาคพื้นดินคือต้นทุนสูงสุดของอุตสาหกรรมการบิน
อากี สมิท หัวหน้าฝ่ายพัฒนาสนามบินของ EasyJet กล่าวว่า ต้นทุนการดำเนินงานโดยรวมเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ซึ่งรวมถึงต้นทุนการจัดการภาคพื้นดิน ความพร้อมของสะพานเทียบเครื่องบิน ทางเข้าออกสองประตู และเวลาในการเปลี่ยนเครื่อง 35-40 นาที Easy Jet กำลังมองหาพันธมิตรกับสนามบินที่ส่งเสริมการเปลี่ยนเครื่องที่รวดเร็วและเครื่องบินที่เงียบกว่า
ปัจจัยอีกประการหนึ่งคือจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ปฏิบัติการพิเศษใดๆ หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นบนเครื่องบินหรือที่สนามบิน ขอยกตัวอย่าง easyJet ที่เพิ่งเปิดตัวบริการ Cape Verde ซึ่งต้องใช้ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมของเครื่องบิน
นอกเหนือจากข้อกำหนดข้อมูลเส้นทางปกติแล้ว easy Jet ยังมองหาการขยายฤดูกาล ดังนั้นข้อมูลว่าร้านค้าและร้านอาหารเปิดให้บริการในช่วงนอกเวลาเร่งด่วนหรือไม่จึงอาจเป็นประโยชน์ได้
ไมเคิล ซิมิโอเนสคู หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรสนามบินและแรงจูงใจของกลุ่มแอร์เอเชีย กล่าวว่า สำหรับแอร์เอเชีย นั่นรวมถึงการมีสล็อตเพียงพอสำหรับการเติบโต นอกจากนี้ แอร์เอเชียยังมองหาแรงจูงใจด้านการขนส่งสินค้าเพื่อสนับสนุนฝูงบินขนส่งสินค้าสี่ลำโดยเฉพาะ
เฮนรี-ชาร์ลส์ โอซารอฟสกี หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์กลุ่มของ TAP Portugal กล่าวว่ามีความท้าทายใหม่ ๆ มากมายที่เรากำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเคอร์ฟิว การบินด้วยเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพ หรือการมีวินัยด้านความจุหรือการลดความจุ และยังไม่ชัดเจนว่า [การลดความจุ] เกิดขึ้นต่อเที่ยวบิน ต่อวัน ต่อสัปดาห์ หรือต่อฤดูกาล มีผลต่อประสิทธิภาพการบินหรือไม่
กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน)หรือ ทอท.กล่าวถึงรายงานผลประกอบการระหว่างปีงบประมาณในรอบ 9 เดือนระหว่างเดือนต.ค. 2566 ถึงเดือนมิ.ย. 2567 ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. มีรายได้รวม 50,764.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.32% ซึ่งรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 17,567.91 ล้านบาท คิดเป็น 53.59% แบ่งเป็น รายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน มีจํานวน 23,268.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,310.63 ล้านบาท คิดเป็น 45.81% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบินจํานวน 27,078.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,257.28 ล้านบาท คิดเป็น 60.98% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 29,580.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,651.46 ล้านบาท หรือ 23.62%