โมเดล 'ค่าธรรมเนียมรถติด' สูตรสำเร็จขนส่งสาธารณะต้องดี

โมเดล 'ค่าธรรมเนียมรถติด' สูตรสำเร็จขนส่งสาธารณะต้องดี

การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Congestion Charge นโยบายใหม่ที่ถูกพูดถึงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม ศึกษาแนวทางแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ ชั้นใน รวมไปถึงหาแนวทางกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผู้รับหน้าที่หลักในการศึกษารูปแบบของการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด นำความสำเร็จของหลายประเทศที่ใช้โมเดลแก้รถติดจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมมาศึกษาเปรียบเทียบ และต่อยอดสู่โมเดลที่เตรียมใช้ในประเทศไทย

โดยพบว่าตัวอย่างการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในต่างประเทศ ที่มีการดำเนินมาตรการนี้และประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย “ลอนดอน” สหราชอาณาจักร มีการกำหนดเขตพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นพื้นที่เขตศูนย์กลางของเมือง ในราคา 15 ปอนด์ต่อวัน โดยกำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บเป็น จันทร์-ศุกร์ 07.00-18.00 วันเสาร์-อาทิตย์ 12.00 – 18.00 ยกเว้นวันหยุดธนาคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์

สำหรับผลลัพธ์จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในพื้นที่รถติดของกรุงลอนดอน พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการจราจรในเขตพื้นที่เก็บค่าธรรมเนียมลดลง 16% ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะในพื้นที่ดังกล่าวกลับเพิ่มขึ้นมากถึง 18% รวมทั้งกรุงลอนดอนยังมีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมประมาณ 352 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งสามารถนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้

ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่าง “สิงคโปร์” มีการกำหนดเขตพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นพื้นที่เขตศูนย์กลางของเมือง และพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น ในราคา 1 - 6 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อวัน โดยกำหนดช่วงเวลาการจัดเก็บเป็นจันทร์ -เสาร์ 06.00-22.00 ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งสามารถปรับลดปริมาณการจราจรในพื้นที่ได้ถึง 15%

สำหรับรูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดของไทยนั้น “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า พื้นที่เป้าหมายในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด อาทิ สุขุมวิท สีลม และรัชดา ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ปัจจุบันมีทางเลือกในการเดินทางหลากหลาย มีแนวรถไฟฟ้าตัดผ่าน โดยพื้นที่เหล่านี้มีปริมาณจราจรเฉลี่ย 7 แสนคันต่อวัน

โดยเบื้องต้นจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราเพิ่มขึ้นทุก 5 ปี อาทิ ใน 5 ปีแรกจัดเก็บคันละ 40 - 50 บาท หลังจากนั้นจะจัดเก็บคันละ 80 บาท เป็นต้น คาดว่าจะได้รายได้ส่วนนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี หลังจากนั้นกระทรวงฯ จะนำรายได้เข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure fund เพื่อซื้อคืนรถไฟฟ้าจากเอกชน และปรับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้เหลือ 20 บาทตลอดสาย ลดค่าครองชีพในการเดินทางให้ประชาชน

อย่างไรก็ดี นโยบาย “ค่าธรรมเนียมรถติด” ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องปรับตัวในการเดินทาง ซึ่ง “สูตรสำเร็จ” นำไปสู่เป้าหมายเพิ่มปริมาณการใช้ขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า ไม่เพียงการเพิ่มภาระด้วยการจัดเก็บค่าธรรมเนียม หรือการปรับลดค่าโดยสาร

แต่ประชาชนยังคงถามถึงความพร้อมของ “ระบบขนส่งสาธารณะ” ที่จะเข้ามารองรับการเดินทางให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และตรงต่อเวลา เพื่อทำให้ประชาชนสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ