การกำกับดูแลกิจการที่ดีและยั่งยืนบนพื้นฐานแบบ OECD
ต่อเนื่องมาสักพักแล้วที่เราได้รับทราบข่าวสารความไม่ถูกต้องโปร่งใสของหลายๆ กิจการทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ ส่งผลเสียหายทางการเงิน
ลามไปจนถึงความน่าเชื่อถือของสถาบันองค์กรต่างๆ และที่สำคัญคือทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องได้รับผลกระทบและความเสียหายไปด้วย
ที่ผ่านมาทั้งภาควิชาการและหน่วยงานกำกับดูแลของไทย มีความพยายามที่จะพัฒนาให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตลอดจนให้มีกระบวนการที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมด้วย โดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นำเอาหลักการ Corporate Governance (CG) ของ Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) มาใช้เป็นกรอบนโยบายสำคัญในการพิจารณาออกประกาศ และจัดทำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนอยู่แล้ว จนต่อมาในปัจจุบัน หลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ OECD ได้มีการปรับปรุงให้มีความทันสมัยและนำเอาเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ เข้ามาเป็นส่วนสำคัญ
จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยระยะนี้นั้น ผู้เขียนจึงอยากทบทวนย้อนกลับไปที่พื้นฐานแรกที่เกิดหลักการการกับดูแลกิจการที่ดีอีกครั้งหนึ่ง
OECD ได้จัดทำและเผยแพร่ Principles of Corporate Governance ครั้งแรกเมื่อปี 1999 ซึ่งในบทนำของเอกสารดังกล่าว ได้มีการกล่าวถึงบางประเด็นที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญและบางครั้งเราอาจจะหลงลืมกันไป ความตอนหนึ่งกล่าวว่า การกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ CG เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบริบทเศรษฐกิจภาพรวม โดยกรอบ CG ยังต้องขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมทางกฎหมายกฎระเบียบและสถาบัน รวมถึงจริยธรรมทางธุรกิจของสังคมนั้นๆ ด้วย และด้วยหลักการของ CG นั้น เป็น non-binding คือไม่ได้มีสภาพบังคับ แต่เป็นแนวทางการปฏิบัติ จึงมักจะต้องไปอิงกฎหมายกฎระเบียบอื่นๆ ของประเทศ ดังนั้น rule of law และ institutional framework ของประเทศจึงมีความสำคัญต่อ CG ที่ดีของธุรกิจ และโดยนัยของการกำกับดูแลที่ดี คงหนีไม่พ้นหลักพื้นฐาน ได้แก่ จริยธรรมทางธุรกิจ ซึ่งผู้เขียนแปลจากคำว่า business ethics อันที่จริงก็เป็นคำแปลที่ไม่ตรงใจนัก แต่ทั้งนี้ ก็เห็นด้วยเป็นอย่างมากว่าพื้นฐานความคิดและการกระทำที่ยึดหลักจริยธรรม จะส่งเสริม CG ของธุรกิจให้เติบโต หากทุกธุรกิจดำเนินไปในทิศทางเดียวกันนี้ก็จะสามารถสร้างพลังผลักดันต่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจของประเทศได้ จากข่าวคราวหลายเรื่องราวที่เราได้ยินในช่วงที่ผ่านมา ก็อดสงสัยไม่ได้ถึงพื้นฐานจริยธรรมโดยทั่วไปของสังคมของเราที่จะต้องเสริมแกร่งกันอีกเพียงใด
ในเอกสารฉบับปี 1999 OECD แบ่งหลักการ CG ออกเป็น 5 ประเด็นสำคัญ ซึ่งยังคงเป็นสาระสำคัญพื้นฐานของเอกสารเผยแพร่ฉบับต่อๆ มา โดยขอสรุปง่ายๆ ดังนี้ 1) การปกป้องสิทธิของผู้ถือหุ้น 2) การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเสมอภาค 3) การเคารพสิทธิและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ 4) การเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นและทันต่อเหตุการณ์ และ 5) กรรมการมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและธุรกิจ หลักการเหล่านี้ เป็นพื้นฐานของการประกอบกิจการที่ดี ไม่เพียงแต่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดๆ เล็กหรือใหญ่ จะขายตรงหรือขายอ้อม หากดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบซื่อสัตย์ เคารพสิทธิของลูกค้า ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสังคม จัดทำและเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้องโปร่งใสแล้ว ความทุจริตผิดเพี้ยนต่าง ๆ เหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น หรืออย่างน้อยหากเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารระดับสูงมั่นคงในหลักการนี้ ก็คงจะลดทอนความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างมาก
ในเอกสาร Principles of Good Governance ของ OECD ที่ได้รับการปรับปรุงล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ระบุว่า การมีนโยบายด้าน CG ที่ดี จะมีส่วนส่งเสริมเศรษฐกิจในภาพรวม ใน 3 ประการ คือ 1) การเข้าถึงแหล่งทุน นโยบาย CG ที่ดี จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนทางการเงินและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศได้ตลอดเวลา 2) การปกป้องผู้ลงทุนที่เหมาะสม จะเท่ากับเป็นการช่วยปกป้องเงินออมของครัวเรือนอีกด้วย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศโดยเฉพาะในสังคมสูงวัย ที่เงินออมของครัวเรือนส่วนหนึ่งอยู่ในรูปของการลงทุนไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม 3) นโยบาย CG ที่ดี จะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนและความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลกับประเทศในภาพรวมด้วย สำหรับประเทศไทย ภาคธุรกิจขนาดใหญ่มักเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนและการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ การวางกรอบนโยบาย CG ให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องนี้ลงไปถึงระดับห่วงโซ่อุปทาน จะมีส่วนส่งเสริมศักยภาพของประเทศได้เป็นอย่างมาก
ผู้เขียนสังเกตเห็นว่า เอกสารฉบับปรับปรุงนี้ ยังเน้นย้ำความสำคัญของเรื่องต่างๆ ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ทว่าเพิ่มเติมบริบทใหม่ที่มีความสำคัญยิ่งยวดมากขึ้นในโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยั่งยืน ESG หรือดิจิทัลเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันหลายๆ ถ้อยคำที่ใช้ บ่งให้เห็นถึงความสำคัญของ rule of law และการบังคับใช้กฎหมายกฎระเบียบให้ได้ผลจริง ซึ่งคงจะเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในหลายๆ ประเทศ ไม่เฉพาะประเทศไทย
แม้ว่าหลักการของการกำกับดูแลกิจการที่ดี จะออกแบบให้ใช้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นหลัก เนื่องจากมองว่ามีผลกระทบต่อผู้ลงทุนในวงกว้าง แต่การส่งเสริมให้มีการนำไปปรับใช้กับกิจการทั่วไปด้วย น่าจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม เพราะผู้ที่จะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงก็คือประชาชนคนไทยนั่นเอง