ส่องความคืบหน้าไทย เจรจา“เอฟทีเอ” สร้างแต้มต่อการค้าไทย
ไทยเดินหน้า เจรจาเอฟทีเอ สร้างแต้มต่อการค้าไทย “พิชัย”เผย ข่าวดี เอฟทีเอไทย-เอฟตา ถือเป็นเอฟทีเอฉบับแรกที่ทำกับประเทศยุโรป เตรียมลงนามต้นปีหน้า ชี้ช่วยดันเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ปิดดีลได้เร็วขึ้น
“ความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ(FTA ) ” ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างแต้มต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยไทยมีเอฟทีเอ ที่มีผลใช้บังคับแล้ว 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง ล่าสุดเมื่อต้นปี 2567 ไทยลงนามเอฟทีเอ ไทย-ศรีลังกา ซึ่งถือเป็นความตกลงเอฟทีเอฉบับที่ 15 ของไทย ทำให้ปัจจุบันไทยมีเอฟทีเอ รวม 15 ฉบับ กับ 19 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบการทำ“เอฟทีเอ”กับเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทยพบว่า ไทยยังมีเอฟทีเอน้อยกว่าเวียดนามที่มี16 ฉบับกับ 54 ประเทศ ขณะที่สิงคโปร์มี 28 ฉบับกับ 65 ประเทศ ซึ่งทั้งสองประเทศมีแต้มต่อทางการค้ามากกว่าไทยทั้งจำนวนฉบับและจำนวนประเทศ โดยเฉพาะการมีเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป (อียู) ทำให้มีความสามารถในการแข่งขัน เข้าถึงตลาดอียูเหนือไทย
เอฟทีเอไทย-อียู เป็นฉบับที่มีความสำคัญเร่งด่วนในลำดับต้นๆของไทย เพราะตลาดอียูเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 ของโลกและเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของไทย โดยสถานะในขณะนี้ผ่านการเจรจาไปแล้ว 3 รอบตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาภายในปี 2568
ขณะที่ภาคเอกชนหนุนสุดตัว โดยเห็นว่า หากมีเอฟทีเอไทย-อียู จะเพิ่มโอกาสขยายการค้า การลงทุน การส่งออก การลดภาษีสินค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อให้เข้าถึงตลาดระหว่างกันรวมถึงความมือด้านต่าง ๆมากขึ้น
อย่างไรก็ตามแม้ว่า เอฟทีเอไทย-อียู ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา แต่ก็มี “ข่าวดี” เนื่องจากเอฟทีเอ ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือเอฟตา (EFTA)ที่มีสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์และลิกเตนสไตน์ ได้เจรจาปิดดีลในปีนี้แน่นอน ซึ่งเอฟทีเอฉบับนี้มีความสำคัญไม่แพ้กับเอฟทีเอไทย-อียู เพราะ EFTA ซึ่งเป็นกลุ่มเป็นประเทศในยุโรปที่ไทยไม่เคยมีเอฟทีเอ
“พิชัย นริพทะพันธุ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เอฟทีเอไทย-เอฟตา คาดว่าจะลงนามในต้นปี 2568 ในช่วงการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้มองว่า เอฟทีเอไทย-เอฟตา ฉบับนี้จะช่วยเสริมและต่อยอดการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ให้มีความคืบหน้าได้รวดเร็ว
สำหรับเอฟทีเอฉบับอื่นๆ นั้น ไทยเปิดเจรจาเอฟที ไทย-เกาหลีใต้ เอฟทีเอไทย-ภูฏาน ซึ่งทั้ง 2 ฉบับได้เปิดเจรจาไปแล้วในช่วงต้นปี 2567 ขณะที่เอฟทีเออาเซียน-แคนาดา ได้เปิดโต๊ะเจรจาไปหลายรอบแล้ว เบื้องต้นตั้งเป้าสรุปผลภายในปี 2568
การที่ไทยเร่งเจรจา"เอฟทีเอ"กับประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ถือเป็นภารกิจของทุกรัฐบาล เพราะโลกการค้าปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แถมยังมีปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่เป็นตัวแปรสำคัญที่ไทยจะต้องวางตัวเป็นกลางไม่อยู่ในคู่ขัดแย้ง ยึดเป้าการค้าเป็นหลัก ซึ่งการมี“เอฟทีเอ”หลายฉบับคลอบคลุมหลายประเทศ จึงเป็นความได้เปรียบด้านการค้า และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยพร้อมกับรับมือความท้าทายใหม่ๆของเศรษฐกิจโลก