นักวิชาการชูแนวคิด One Belt, One Buckle ปักหมุดไทยเชื่อมเศรษฐกิจจีน-อาเซียน

นักวิชาการชูแนวคิด One Belt, One Buckle ปักหมุดไทยเชื่อมเศรษฐกิจจีน-อาเซียน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ชูแนวคิด One Belt, One Buckle หนุนไทยเป็นเสมือนหัวเข็มขัดในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนทำหน้าที่เป็นประตูเชื่อมโยงจากจีนไปยังประเทศอื่นๆในอาเซียน ช่วยให้ไทย ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นจุดเชื่อมต่อของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆมากขึ้น

ปัจจุบันโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนถือเป็นความริเริ่มระดับโลกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลกเข้าไว้ด้วยกัน

โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศต่างๆ แต่ในขณะที่จีนขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ไปทั่วโลก และ ตอนนี้พลังอำนาจจีน สหรัฐใกล้กันมากกว่าเวลาไหน  สหรัฐก็พยายามต่อต้านการขยายอำนาจของจีนในทุกวิถีทาง เพื่อถ่วงเวลาและสร้างข้อจำกัดในการที่จีนจะขึ้นเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจระดับโลกได้อย่างสมบูรณ์

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เปิดเผยว่าในโอกาสที่ได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถานำในงาน Belt and Road Forum for International Think Tank Cooperation และ Silk Road (Xi’an) International Communication Forum ที่จัดขึ้นที่เมืองซีอาน ประเทศจีน อันเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมในอดีต และมีผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางความคิด และสื่อมวลชนจาก 50 ประเทศเข้าร่วม  จึงได้เสนอบทบาทสำคัญที่ประเทศไทยสามารถมีส่วนร่วมในการผลักดันโครงการ BRI ให้ประสบความสำเร็จไว้หลายประการ

โดยแนวคิดหลักที่ได้เสนอกับรัฐบาลจีนและผู้เข้าร่วมประชุม คือ ยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของ BRI ในศตวรรษหน้า เป็นยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “หนึ่งแถบหนึ่งหัวเข็มขัด (One Belt, One Buckle)" แนวคิดนี้มาจากการเสนอให้ประเทศไทยเป็น "หัวเข็มขัด" ของเส้นทางสายไหมใหม่ โดยจะทำหน้าที่เชื่อมจีนกับอาเซียน โดยมาตรการต่างๆ เช่น

1. การให้ไทยเป็น 'หัวเข็มขัด' หรือศูนย์กลางการค้า การลงทุน และ โลจิสติกส์ที่เชื่อมจีนกับภูมิภาคอาเซียน 

ภูมิศาสตร์ของไทยที่ตั้งอยู่ใกล้จีนและเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียนทำให้ไทยเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญระหว่างจีนกับภูมิภาคและโลกอื่น ๆ ทะเลที่อยู่ทางทิศตะวันออกและตะวันตกของไทยเอื้อต่อการพัฒนาศูนย์กลางโลจิสติกส์ ที่จะช่วยให้จีนและอาเซียนสามารถเชื่อมต่อกับตลาดขนาดใหญ่ทั่วโลกผ่านไทยได้อย่างง่ายดาย

การมีบทบาทสำคัญในยุทธศาสตร์นี้จะทำให้ไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเป็นจุดเชื่อมต่อของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ

2. การจัดตั้งกองทุน One Belt, One Buckle ผมเสนอให้ตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนโครงการ One Belt, One Buckle โดยเชิญประเทศต่างๆ เข้าร่วม รวมถึงสหรัฐอเมริกาและยุโรป แม้สหรัฐอาจเลือกที่จะไม่เข้าร่วม แต่การเชิญชวนจะทำให้ไทยมีข้ออ้างในการเจรจาต่อรองได้

"การตั้งกองทุนนี้จะทำให้ไทยมีบทบาทเป็นศูนย์กลางในการประสานงานและเป็นผู้เชื่อมต่อระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ อย่างไม่เป็นทางการ เพิ่มโอกาสในการทำให้โครงการประสบความสำเร็จ"

3. การสร้างสมาคมไทย-จีนเพื่อความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ โดยได้เสนอให้จัดตั้งสมาคมไทย-จีนใหม่ โดยให้เชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างภาคประชาชนของทั้งสองประเทศในประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และเทคโนโลยี โดยสมาคมนี้จะเน้นโครงการที่เป็นรูปธรรมและสามารถดำเนินการได้จริง เช่น การแลกเปลี่ยนนักวิชาการและนักเรียน การสร้างเครือข่ายทางวิชาการ และการพัฒนาเมืองใหม่ในประเทศไทยเพื่อดึงดูดการลงทุนจากจีน เป็นต้น

“ที่สำคัญต้องย้ำให้โลกและสหรัฐเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ ไม่ใช่จีน ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า หากโครงการนี้เป็นความริเริ่มของจีนเพียงฝ่ายเดียว สหรัฐอาจมีท่าทีขัดขวางหรือสร้างข้อกังวลทางภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจของตนในภูมิภาค แต่หากไทยเป็นผู้นำเสนอ สหรัฐจะไม่รู้สึกถูกคุกคาม เนื่องจากไทยเป็นประเทศเล็กที่ไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐ การริเริ่มผ่านประเทศไทยจึงเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ความร่วมมือระหว่างจีนและสหรัฐมีพื้นที่ในการเจรจาและประนีประนอมมากขึ้น”

 

นอกจากนี้โครงการนี้ไม่ควรทำผ่านรัฐบาลไทยโดยตรงเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน แต่ให้ดำเนินการผ่านสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากทุกพรรคการเมืองของไทยและมีความเป็นกลางในการเจรจา

โครงการ One Belt, One Buckle นี้ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียนได้อย่างมั่นคง แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการขนส่งในภูมิภาค อีกทั้งยังช่วยให้ไทยมีบทบาทที่ชัดเจนในการเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐ นำไปสู่การสร้างความสมดุลทางภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียในอนาคตอีกด้วย