‘คลัง’ บีบ ‘ธปท.’ ร่วมดันเศรษฐกิจ โยนโจทย์ ‘มาตรการการเงิน’ ดันเงินเฟ้อ 2%
“พิชัย” รับได้หาก ธปท.คงกรอบเงินเฟ้อ 1-3% แต่ต้องมีมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจขยายตัว อัตราดอกเบี้ยต้องเหมาะสม หนุนการลงทุน ย้ำแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็น KPI ทุกคน “คลัง” เตรียมเสนอนายกฯ พิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 31 ต.ค.นี้ ดันเศรษฐกิจไตรมาส 4 หนุนจีดีพีขยายตัว 2.7-2.8%
กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เริ่มต้นการหารือกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินปี 2568 โดยเป็นการหารือระหว่างนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนารคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กระทรวงการคลัง วันที่ 29 ต.ค.2567
ที่ผ่านมากระทรวงการคลังมีจุดยืนว่า อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีการประมาณการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย.2567 ขยายตัว 0.61% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 0.20%
สำหรับการใช้เงินเฟ้อทั่วไปจัดทำนโยบายการเงินเริ่มเมื่อปี 2558 โดยมีเป้าหมาย 2.5% บวกลบไม่เกิน 1.5% หรืออยู่ในกรอบ 1-4% ต่อมาปี 2563 ปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ ใช้เงินเฟ้อทั่วไปที่ 1-3% ซึ่งในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา มีปีที่เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย 3 ปี คือ ปี 2561 ปี 2564 และปี 2566 และ ธปท.ทำจดหมายอธิบายสาเหตุเงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมายไปยังกระทรวงการคลังรวม 11 ฉบับ
นายพิชัย กล่าวว่า การหารือกับ ธปท.ได้หารือเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ที่จะต้องสอดคล้องกับนโยบายทางการคลังของรัฐบาลก่อนที่จะเสนอแนวทางและการกำหนดกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไปภายในเดือน ธ.ค.2567
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจไทยเติบโตในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยในปี 2566 เศรษฐกิจขยายตัวอยู่ที่ 1.9% และปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2.7% ส่วนในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ใกล้เคียง 3% บวกลบ จากการดำเนินมาตรการไปตามปกติ
อย่างไรก็ตาม หากต้องการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากกว่านี้ โดยจะต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินมาตรการให้มากขึ้น ซึ่ง ธปท.เข้าใจในเจตนาของรัฐบาลและมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน
เร่ง ธปท.มีมาตรการดันเศรษฐกิจ
“การกำหนดกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายเป็นเรื่องปลายเหตุ ด้วยเงินเฟ้อจะสูง-ต่ำ ราคาของถูกหรือแพง ต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ การลงทุน รายได้ กำลังซื้อ ดังนั้นการกำหนดกรอบเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1-3% ก็ไม่มีผล ซึ่งกระทรวงการคลังยอมรับได้ที่จะกำหนดกรอบเดิม 1-3% อย่างไรก็ตามระดับอัตราเงินเฟ้อจริงจะต้องมากกว่า 1% ให้ขยับขึ้นมาอยู่ในจุดที่เหมาะสมหรือค่ากลางที่ 2%” นายพิชัยกล่าว
ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องมีมาตรการที่สนับสนุนการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เงินเฟ้อไปสู่จุดที่เหมาะสม ได้แก่ มาตรการสนับสนุนการลงทุน ซึ่งจะต้องกำหนดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับต่างประเทศและคู่แข่งอัตราดอกเบี้ยต้องอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้
นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการที่ช่วยแก้ปัญหาภาระหนี้ประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือน หนี้บ้าน หนี้รถยนต์และหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค โดยตั้งเป้าให้มีการบูรณาการและตกผลึกแนวทางการแก้หนี้ให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งเมื่อแก้ปัญหาเรื่องหนี้ให้กลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ก็จะเพิ่มโอกาสการลงทุนและการขยายตัวของสินเชื่อใหม่
“สิ่งที่นักลงทุนอยากเห็นคือโอกาสที่จะขาย กำลังซื้อในประเทศที่เติบโต แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลง มาตรการสนับสนุนการลงทุนที่ชัดเจน และอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งขันได้” นายพิชัย กล่าว
แนะดูแลค่าเงินบาทหนุนส่งออก
ขณะเดียวกัน ธปท.ต้องดำเนินนโยบายในการรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้กับประเทศคู่แข่ง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกกว่า 30% และสินค้าบางประเภทพึ่งพาการส่งออกมากว่า 50% ทั้งนี้การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนยังต้องอยู่บนหลักการที่ไม่แทรกแซงโดยเสียหลักการและต้องดูควบคู่กันไปกับอัตราเงินเฟ้อ
“การดำเนินมาตรการการเงินจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งเงินเฟ้อ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสนับสนุนการลงทุน การแก้หนี้ อัตราแลกเปลี่ยน การกำกับดูแลธนาคารในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งได้หารือข้อคิดเห็นเหล่านี้กับ ธปท.ให้กลับไปพิจารณาหลักการและแนวทางก่อนที่จะเสนอต่อที่ประชุม ครม.ภายในเดือน ธ.ค.นี้” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวต่อว่า มาตรการทางการคลังและมาตรการทางการเงินจะต้องไปในแนวทางเดียวกัน เห็นปัญหาเดียวกัน เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต มีการลงทุนใหม่ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพิ่มกำลังซื้อประชาชน และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
แก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็น KPI ทุกคน
นายพิชัย กล่าวว่า ขณะนี้มีเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เริ่มทยอยเข้ามาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ คลาวด์ ดาต้าเซ็นเตอร์ และเกษตรชีวภาพ ซึ่งเป็นทิศทางที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปโรดโชว์ต่างประเทศและได้หารือกับบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง
ทั้งนี้นักลงทุนต่างประเทศได้พิจารณาประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจการลงทุน ได้แก่ พื้นที่การลงทุนโดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ความพร้อมและราคาพลังงานสีเขียว และกำลังแรงงานที่มีทักษะสูง
ขณะเดียวกัน ยังต้องเตรียมเรื่องการลงทุนภายในประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ และโครงการแลนบริดจ์เชื่อมการขนส่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมทั้งการเชื่อมโยงการขนถ่ายสินค้ากับประเทศจีน
“ถ้าเศรษฐกิจเจริญเติบโต ทุกอย่างดี และการเงินมีเสถียรภาพเป็น KPI ของทุกคน” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย กล่าวว่า หากเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ถึง 3.2-3.5% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.5-2.0% สิ่งตามมา คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP) จะขยายตัว 5.5% เท่ากับรัฐบาลจะมีพื้นที่สร้างหนี้สาธารณะได้ 70% ตั้งงบประมาณขาดดุลได้ถึง 770,000 แสนล้านบาท
“คลัง” เล็งคลอดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายพิชัย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลได้รับทราบข้อเสนอของเอกชนในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบ เช่น ช่วงเวลาการออกมาตรการและรูปแบบมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไหนจะมีความเหมาะสมที่สุด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้พิการ 14.5 ล้านคน รวมวงเงิน 120,000 ล้านบาท
สำหรับการเศรษฐกิจปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 2.7-2.8% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงมาตรการที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการในช่วงที่เหลือของปี 2567 ซึ่งจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องจึงทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ตามประมาณการณ์ที่ตั้งไว้ รวมทั้งมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3-5% ในอนาคตอันใกล้
เสนอนายกฯ พิจารณา 31 ต.ค.นี้
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนของกระทรวงการคลัง ให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับทราบในช่วงที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาที่กระทรวงการคลัง เพื่อเป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวง ในวันที่ 31 ต.ค.2567
“การประชุมครั้งนี้จะมีการหารือและเตรียมแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2568 ว่าจะมีการออกมาตรการอะไร และควรออกมาตรการในช่วงเวลาใด” นายลวรณ กล่าว
ส่วนผลการจัดเก็บรายได้รัฐงบประมาณประจำปี 2567 (ต.ค.2566-ก.ย.2567) ที่ตำกว่าเป้าหมาย 4,000-5,000 ล้านบาท ถือเป็นการพลาดเป้าจากประมาณการในงบประมาณเล็กน้อย โดยไม่มีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม โดยสาเหตุมาจากช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นปีงบประมาณ เกิดการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนทำให้เงินบาทแข็งค่า ส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากสินค้านำเข้าลดลง
“ผลจากเงินบาทแข็งค่าในช่วงเดือน ก.ย.ซึ่งหากไม่มีปัจจัยเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ตามเอกสารประมาณการงบประมาณ”
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังเห็นว่าการที่จัดเก็บรายได้ที่ไม่เป็นไปประมาณการ จะไม่มีผลต่อการขาดดุลงบประมาณปี 2567 เพิ่มเติม เนื่องจากมีส่วนการเบิกจ่ายที่ไม่เป็นไปตามเป้าเช่นกัน