พาณิชย์ เผย ส่งออก “ทูน่ากระป๋อง”ไทยแรงต่อเนื่อง

พาณิชย์ เผย ส่งออก “ทูน่ากระป๋อง”ไทยแรงต่อเนื่อง

สนค.เผย สถิติการส่งออกทูน่ากระป๋องไทย แนวโน้มสดใสอย่างต่อเนื่อง  ได้รับแรงหนุนสำคัญจากตลาดสหรัฐอเมริกาและตะวันออกกลาง และความต้องการกักตุนอาหารจากสถานการณ์ความขัดแย้งและสงครามในหลายจุด ทั้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และรัสเซีย-ยูเครน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถิติ การส่งออกทูน่ากระป๋อง ของไทย ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย. 2567) ของปี 2567 มีมูลค่ารวม 1,851 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 20.73  % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การส่งออกขยายตัวในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภูมิภาคอเมริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

โดยภูมิภาคอเมริกา มีมูลค่าการส่งออก 632 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น  17.90 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ปัจจัยสำคัญมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และแคนาดา ตลาดส่งออกหลักของไทยในภูมิภาคนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 402.39 ล้านดอลลาร์ เพิ่ม แคนาดา 102.43  ล้านดอลลาร์ และ  ชิลี 47.48 ล้านดอลลาร์

ภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง มีมูลค่าการส่งออก 618 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 14.98 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวถึง 38.97 %  แรงหนุนที่ทำให้ดีมานด์ในตะวันออกกลางขยายตัว มาจากความกังวลต่อสถานการณ์สงคราม จึงกักตุนสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะ อิสราเอลเพิ่ม 103.43% เลบานอน เพิ่ม 72.97% และอิรัก เพิ่ม 110.31%) สำหรับในเอเชีย ญี่ปุ่นยังคงนำเข้าทูน่าในปริมาณสูง แต่ด้วยปัญหาการแข็งค่าของเงินเยน ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง 

ตลาดส่งออกสำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง ได้แก่   ญี่ปุ่น 168.15 ล้านดอลลาร์  ซาอุดีอาระเบีย 110.91 ล้านดอลลาร์  และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 100.91 ล้านดอลลาร์

พาณิชย์ เผย ส่งออก “ทูน่ากระป๋อง”ไทยแรงต่อเนื่อง

ภูมิภาคแอฟริกา มีมูลค่าการส่งออก 247 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น  29.87 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีแรงกระตุ้นจากปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองของภูมิภาคนี้ ตลาดสำคัญในภูมิภาคนี้ ได้แก่ ลิเบีย 124.62 ล้านดอลลาร์  อียิปต์ 75.97 ล้านดอลลาร์  และแอฟริกาใต้ 28.87 ล้านดอลลาร์

ภูมิภาคออสเตรเลียและโอเชียเนีย มีมูลค่าการส่งออก 184 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 22.58%   เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีปัจจัยหนุนจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคทีหันมาบริโภคอาหารพร้อมรับประทานมากขึ้น ตลาดส่งออกหลักในภูมิภาคนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย 146.92 ล้านดอลลาร์  นิวซีแลนด์ 23.02 ล้านดอลลาร์ ปาปัวนิวกินี 7.59 ล้านดอลลาร์

ภูมิภาคยุโรป มีมูลค่าการส่งออก 170 ล้านดอลลาร์  เพิ่มขึ้น 42.48 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า ปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงการกักตุนอาหารกระป๋องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนระหว่างประเทศและภาวะสงครามที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะยูเครน  ตลาดส่งออกหลักในภูมิภาคนี้ ได้แก่  สวิตเซอร์แลนด์ 30.92 ล้านดอลลาร์ รัสเซีย 26.82 ล้านดอลลาร์ และ สหราชอาณาจักร 26.76 ล้านดอลลาร์

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ไทยครองตำแหน่งผู้นำตลาดทูน่ากระป๋องมาอย่างยาวนาน มีปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ค่าแรงที่แข่งขันได้ และการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ในอุตสาหกรรม ทำให้ไทยสามารถพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตของสินค้าทูน่ากระป๋องจนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ด้วยยอดสั่งซื้อสินค้าที่ไทยเป็นผู้นำตลาดทูน่ากระป๋องมาอย่างต่อเนื่อง

พาณิชย์ เผย ส่งออก “ทูน่ากระป๋อง”ไทยแรงต่อเนื่อง

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องของไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และออสเตรเลีย รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความสะดวกสบาย ราคาย่อมเยา แต่ยังคงใส่ใจต่อสุขภาพ ประกอบกับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และกระแสความกังวลสถานการณ์สงคราม ทำให้สินค้าทูน่ากระป๋องตอบโจทย์วิถีชีวิตในปัจจุบันและสถานการณ์โลก

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่มีนัยสำคัญ คือ การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสุนัขและแมวอันดับต้น ๆ ของโลก และส่วนใหญ่เป็นอาหารเปียกที่ทำจากปลาต่าง ๆ รวมถึงทูน่า ทำให้ไทยมีการนำเข้าปลาทูน่าเป็นปริมาณมากในแต่ละปี ไทยจึงเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานทูน่าโลก

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ ภาวะเงินเฟ้อและการแข็งค่าของเงินบาทที่กระทบกำลังซื้อและการส่งออก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ปริมาณปลาทูน่าลดลงและส่งผลต่อต้นทุนการผลิต ตลอดจนมาตรการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable Fishing)

มาตรการด้านแรงงาน (Fair Labor Practice) ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น โดยรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้า ใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าทูน่ากระป๋องของไทย อันจะนำมาซึ่งโอกาสในการขยายตลาดทูน่ากระป๋องของไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน