ชัยเสรี ชี้ภูมิรัฐศาสตร์ดันธุรกิจรถถังโต ทุ่ม 3 พันล้านบาท เปิดโรงงานแห่ง 2
เปิดอาณาจักรชัยเสรี เม็ททอลแอนด์รับเบอร์ สร้างโรงงานเฟส 2 บนพื้นที่ 111 ไร่ ด้วยงบลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท หวังดัน "รถถังไทยไปทั่วโลก"
KEY
POINTS
นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานสื่อสารองค์กร พร้อมคณะผู้บริหาร ส.อ.ท. นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมบริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด จังหวัดปทุมธานี เพื่อศึกษา เรียนรู้ และสัมผัสถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย
นายนาวา กล่าวว่า ส.อ.ท. ตระหนักและให้ความสำคัญกับการยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศซึ่งเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่มีศักยภาพ และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและมั่นคง โดยเฉพาะชัยเสรีฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศด้วยคติ “ไทยทำ ไทยใช้” ส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำด้วยฝีมือคนไทย 100%
โดยมีบริษัท ชัยเสรี รับเบอร์ อินดัสทรี จำกัด หนึ่งในเครือบริษัท ชัยเสรีฯ ได้ออกใบรับรองสินค้า Made in Thailand (MiT) กับ ส.อ.ท. มาเป็นแต้มต่อให้ภาครัฐซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย และในปัจจุบันสามารถนำพาบริษัท ชัยเสรีฯ เข้าไปมีบทบาทในฐานะผู้ผลิต ซ่อม และส่งออกรถหุ้มเกราะสัญชาติไทยไปประจำการในกองทัพขององค์กรสหประชาชาติ หรือ UN และอีกกว่า 46 กองทัพทั่วโลก
"ชัยเสรีฯ ถือเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาว่าจากผู้ประกอบกิจการเล็กๆ ที่ก่อตั้งขึ้นด้วยความมุ่งมั่นของคนรุ่นแรกจนส่งต่อสู่ทายาทรุ่นที่ 2 นั้น ได้มีการเรียนรู้และพัฒนาอย่างไรให้ธุรกิจนี้ดำเนินได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางการแข่งขันและความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ท้าทายขึ้นทุกๆ วัน” นายนาวา กล่าว
นพรัตน์ กุลหิรัญ หรือ มาดามรถถัง ผู้ก่อตั้ง ชัยเสรี กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจ ทิศทาง และกลยุทธ์ของบริษัท โดยเมื่อราวปี 2511 ทีมงานผู้บริหารของบริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินธุรกิจเป็นโรงงานผลิต และรับซ่อมลูกหมาก รถบรรทุกสิบล้อ ใช้ชื่อว่า “สหชัย” ในสมัยนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังมาก เป็นที่รู้จักดีในวงการรถบรรทุกสิบล้อ
ต่อมา บริษัทฯ มีการพัฒนาและผลิตรถถังที่ก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ เพิ่มศักยภาพด้านอื่นๆ จนปัจจุบัน บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตด้านยานเกราะและชิ้นส่วนยานยนต์ทางการทหารของไทยที่ได้รับความเชื่อถือมายาวนานกว่า 50 ปี โดยมีผลงานที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เช่น ยานเกราะ First Win และล่าสุดคือ AWAV 8x8 ซึ่งสามารถปฏิบัติงานได้ทั้งบนบกและในน้ำ AWAV ได้รับเลือกในโครงการยานเกราะสะเทินน้ำสะเทินบกของกองทัพเรือไทย
นายกานต์ กุลหิรัญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด กล่าวว่า ชัยเสรีเป็นหนึ่งในบริษัทไทยที่มีศักยภาพในการผลิตยานพาหนะทางการทหารเพื่อรองรับตลาดในประเทศและส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ภูฏาน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น
ชัยเสรี เติบโตและขยายฐานการผลิตไปยังลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันสามารถส่งออกไปยัง 37 ประเทศทั่วโลก และมีการลงทุนในการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์และระบบป้องกันสำหรับยานเกราะให้ตอบโจทย์การใช้งานของหน่วยงานด้านความมั่นคง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจนี้มีปัจจัยท้าทายหลายด้าน เช่น การแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่จากต่างประเทศ ความผันผวนของค่าเงิน และกฎระเบียบการส่งออกที่เข้มงวด อีกทั้งยังต้องพัฒนามาตรฐานการผลิตเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการทางยุทธวิธีที่ซับซ้อนขึ้น
การเติบโตของชัยเสรีแสดงให้เห็นถึงความสามารถของบริษัทไทยในการผลิตสินค้าด้านการทหารที่ได้มาตรฐานสากล และการขยายสู่ตลาดต่างประเทศทำให้บริษัทได้รับการยอมรับในฐานะผู้ส่งออกในกลุ่มประเทศอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ
สำหรับโรงงาน และกระบวนการผลิตรถเกราะล้อยาง First Win 4x4 รถเกราะล้อยาง 8x8 โรงผลิตชิ้นส่วน โรงผลิตโครงสร้างกระดองรถถัง โรงซ่อมและทดสอบเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง โรงประกอบรถเกราะล้อยางเสรี ตั้งอยู่บนพื้นที่โรงงาน 87 ไร่ พื้นที่ 140,000 ตรม. และอยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตบนพื้นที่ 111 ไร่ ที่จังหวัดสระบุรี คาดว่าแล้วเสร็จไตรมาส 3 ปี 2568
"โรงงานที่จะขยาย จะเข้ามารองรับโรงงานประกอบรถและเป็นสนามทดสอบรถก่อนส่งมอบให้ผู้รับจ้าง เบื้องต้นจะใช้งบลงทุนก่อสร้างและเครื่องจักรราว 3,000 ล้านบาท"
รายได้ต่อปีประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท เติบโต 25% โดยแนวโน้มการเติบโตมาจากภาวะสงครามอิสราเอล ภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ ก็ยังมีผลทำให้คำสั่งซื้อของกองทัพทหารต่าง ๆ ยังมีความต้องการทั้งรถถังและรถลำเลียงขนาดเล็กที่เป็นรายการที่มีความต้องการสูง หากย้อนไป 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจประกอบรถถังมีแนวโน้มเติบโต หลักๆ เป็นกลุ่มยูเอ็น เอเซียใต้ และเอเซียตะวันตก เป็นต้น
"ข้อได้เปรียบของไทยคือการซื้อขายที่ไม่อิงการเมือง เป็นการซื้อขายระหว่างประเทศ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่เลือกข้าง อีกทั้งไทยมีช่องทางการทูตสามารถส่งออกไปได้แทบทุกที่ ทำให้ต่างชาติแย่งมาลงทุนในไทย"
ทั้งนี้ ชัยเสรี มีความมุ่งมั่นตั้งใจสร้างแบรนด์ด้านยุทโธปกรณ์ที่ออกแบบและผลิตโดยคนไทย ให้ภาครัฐสามารถนำไปใช้งานจริง ทั้งด้านการวางโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง เพื่อเสริมสร้างหลักประกันทางด้านความมั่นคงของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ตลอดจนยกระดับยุทโธปกรณ์ไทยที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล