จับตาผลกระทบอินเดียยกเลิกแบนส่งออกข้าว คาดกระทบส่งออกข้าวไทยเดือนต.ค.

จับตาผลกระทบอินเดียยกเลิกแบนส่งออกข้าว คาดกระทบส่งออกข้าวไทยเดือนต.ค.

ผู้ส่งออกข้าวเผย เดือนก.ย.ไทยส่งออกข้าว  878,711 ตัน ลดลง 0.8% รวม 9 เดือน มีปริมาณ 7,448,941 ตัน เพิ่มขึ้น 22.0%   มูลค่า 4,833.5 ล้านดอลลาร์ คาดเดือนต.ค.ส่งออกลดลงอีก ผลจากอินเดียยกเลิกแบนส่งออกข้าวเกิดการแข่งขันสูง ทำไทยสูญเสียตลาดส่งออกให้อินเดีย

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์  นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า  การส่งออกข้าวในเดือนก.ย. 2567 มีปริมาณ 878,711 ตัน ลดลง 0.8%  มูลค่า 19,463 ล้านบาท ลดลง 3.5% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค. 2567 ที่มีปริมาณ 885,387 ตัน มูลค่า 20,160 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนก.ย. การส่งออกในกลุ่มของข้าวนึ่ง และปลายข้าว มีปริมาณลดลงจากเดือนก่อน ขณะที่การส่งออกข้าวขาวและข้าวหอมมะลิยังคงไปได้ดี    

โดยการส่งออกข้าวขาวมีปริมาณรวม 507,795 ตัน ใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น อิรัก ฟิลิปปินส์ โตโก แคเมอรูน เคนย่า โมซัมบิก เบนิน ญี่ปุ่น เป็นต้น

ขณะที่การส่งออกนึ่งมีปริมาณ 106,153 ตัน ลดลง 30% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยัง     ตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เบนิน เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 122,465 ตัน เพิ่มขึ้น 10.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยยังคงส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฮ่องกง โกตดิวัวร์ สิงคโปร์ อิตาลี ออสเตรเลีย เป็นต้น

ขณะที่ภาพรวม การส่งอออกข้าวช่วง 9 เดือนของปี (ม.ค.-ก.ย. 2567) มีปริมาณ 7,448,941 ตัน เพิ่มขึ้น 22.0%  มูลค่า 4,833.5 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 172,019 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้น 45.8%

ร.ต.ท.เจริญ กล่าวว่า  สมาคมฯคาดว่าในเดือนต.ค. 2567 จะส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 700,000 ตัน เนื่องจากผู้นำเข้าข้าวโดยเฉพาะในแถบแอฟริกายังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมไว้ใช้ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ประกอบกับผู้ส่งออกยังมีสัญญาส่งมอบที่ค้างมาจากเดือนก่อน ทั้งจากตลาดหลักในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดหลักในภูมิภาคแอฟริกา เช่น โมซัมบิก แคเมอรูน เบนิน แองโกล่า และตลาดตะวันออกกลาง เช่น อิรัก เป็นต้น

ขณะที่ตลาดสำคัญของข้าวหอมมะลิยังคงนำเข้าอย่างต่อเนื่อง เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากนี้ตลาดจะกลับเข้าสู่ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงอีกครั้งเนื่องจากอินเดียได้ยกเลิกมาตรการจำกัดการส่งออก ทั้งการยกเลิกภาษีส่งออกและการกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำ ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกของอินเดียสามารถส่งออกได้โดยไม่มีข้อจำกัด ประกอบกับอินเดียยังมีอุปทานข้าวปริมาณมากและราคาค่อนข้างต่ำ

"คาดว่าอินเดียจะส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยสูญเสียตลาดส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งบางส่วนให้แก่อินเดีย"ร.ต.ท.เจริญ กล่าว

สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวไทยในปลายเดือนต.ค.มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ท่ามกลางภาวะการแข่งขันด้านราคาในตลาดส่งออกที่รุนแรงขึ้นหลังจากที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งได้โดยไม่มีข้อจำกัดในการส่งออก

ทั้งนี้ราคาข้าวขาว 5% ของไทย  ณ วันที่ 30 ต.ค. 2567 อยู่ที่ 507 ดอลลาร์ ต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม 524-528 ดอลลาร์ อินเดีย 444-448  ดอลลาร์และปากีสถานอยู่ที่ 461-465 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 522 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดีย439-443  ดอลลาร์ต่อตันและปากีสถานอยู่ที่ 493-497 ดอลลาร์ต่อตัน ตามลำดับ