‘เผ่าภูมิ’ สั่ง ‘สรรพสามิต‘ ศึกษาเก็บภาษีไขมัน-ความเค็ม ลดประชาชนบริโภค
"เผ่าภูมิ" มอบนโยบาย "สรรพามิต" ศึกษาแนวทางเก็บภาษีไขมัน-ความเค็ม ลดการบริโภค ย้ำไม่ให้กระทบประชาชน ใช้กลไกภาษีขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม จ่อบังคับใช้ภาษีแบตเตอรี่อัตราขั้นบันได ไตรมาส 1 ปี 68
วันที่ 4 พ.ย.2567 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้ามอบนโยบายแก่กรมสรรพสามิต ในการเป็นกลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน ธรรมาภิบาล และสร้างสมดุลในการจัดเก็บรายได้ โดยมีอธิบดี คณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต ให้การต้อนรับและรับมอบนโยบาย
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิต ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษากลไกการเก็บภาษีไขมันว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพื่อเป็นการใช้กลไกภาษีเพื่อสนับสนุนการแพทย์เชิงป้องกัน ลดการบริโภคอาหารที่เป็นโทษต่อสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ลดภาระงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศ
รวมทั้ง การจัดเก็บภาษีความเค็มในสินค้าบางประเภทที่ไม่อยู่ในสินค้าควบคุม โดยพิจารณาจากสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมสูงและไม่กระทบกับสินค้าที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยจำเป็นต้องบริโภค เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมและไขมัน
โดยตั้งเป้าคนไทยลดบริโภคเค็มลง 30% ภายในปี 2568 ทั้งนี้ต้องมีระยะเวลาก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ให้ผู้ประกอบการปรับตัว
นอกจากนี้ ยังได้หารือการจัดเก็บภาษีที่สำคัญ ได้แก่
1.ภาษีแบตเตอรี่: ให้ศึกษาพิจารณาเปลี่ยนจากอัตราคงที่ 8% เป็นอัตราแบบขั้นบันได โดยคำนึงถึงปัจจัย Life Cycle และค่าพลังงานจำเพาะต่อน้ำหนัก รวมถึงชนิดของแบตเตอรี่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สะอาด อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยคาดว่าอย่างเร็วที่สุดจะสามารถบังคับใช้ภาษีได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2568
2.ภาษียานยนต์: ใช้กลไกภาษีกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งมีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมจากอุตสาหกรรมขนาดเล็กถึงใหญ่ รวมถึงการจ้างงาน โดยใช้ภาษีสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ประเภทไฮบริด (HEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ให้เพิ่มขึ้นในประเทศ แต่ยังคงรักษาฐานการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไว้ อย่างค่อยเป็นค่อยไป
โดยจะต้องกำหนดเวลาชัดเจน และให้แนวทางว่ากรมสรรพสามิตสามารถสูญเสียรายได้ในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมในระยะยาว ซึ่งเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจประเทศได้
3.ภาษีคาร์บอน: กำหนดกลไกราคาคาร์บอนในภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 6 ประเภท ซึ่งไทยจะเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียน โดยคำนวณจากค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเบื้องต้นกำหนดราคาคาร์บอนที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ โดยต้องไม่ให้กระทบต่อราคาพลังงาน
4.ภาษีบุหรี่: ให้จัดเก็บภาษีแบบผสม โดยพิจารณาและศึกษาความเหมาะสมในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียว (Singler Rate) เพื่อลดการบิดเบือนกลไกราคา โดยให้พิจารณาปัจจัยความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและสนับสนุนผู้เพาะปลูกใบยาสูบในประเทศด้วย
รวมทั้งดำเนินการระบบตรวจ ติด ตาม บุหรี่ โดยใช้ระบบ QR Code ในบุหรี่ เพื่อป้องกันบุหรี่เถื่อนทั้งระบบ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีและแหล่งที่มาของบุหรี่เพื่อมั่นใจได้ว่าได้มาตรฐานและตรวจสอบโดยกรมสรรพสามิต