สรท.จับตาผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐก่อนเคาะเป้าส่งออกปี 68
สรท. มั่นใจปี 67 ส่งออกไทยโตกว่า 2 % แม้ว่าจะเหลือเวลาอีก 3 เดือนสุดท้ายของปี ชี้ เลือกตั้งปธ.สหรัฐไม่ว่า “ทรัมป์-แฮร์ริส” ชนะ ไทยต้องปรับตัวรับสงครามการค้ารอบใหม่ เผย ช่วง 7 ปี เกิดสงครามการค้าไทยได้รับอานิสงค์ ย้ายฐานการผลิต ส่งออกไปสหรัฐ ต้นธ.ค.คาดการณ์เป้าส่งออกปี 68
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่ว่าจะได้ใคร และพรรคไหนมาเป็น ประธานาธิบดีสหรัฐ มีประเด็นท้าทายเหมือนกันคือ สงครามการค้า โดยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาที่เกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนภายใต้การดำเนินนโยบายของทั้ง 2 พรรคการเมืองสหรัฐ การส่งออกของไทยได้รับอานิงสงค์จากการย้ายฐานการผลิต การเพิ่มการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการไทย การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าทางด้านกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการส่งออกไปสหรัฐเพิ่มมากขึ้นถึง 7เท่าตามมาด้วยยางล้อรถยนต์ซึ่งมีการเติบโตมากกว่า 2 เท่า
ล่าสุดเดือนก.ย.การส่งออกไทยไปสหรัฐขยายตัว 18 % รวม 9 เดือนขยายตัว 12.5 % จากภาพของการส่งออกไทยไปสหรัฐชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ไทยได้รับอานิงสงค์จากสงครามการค้า
อย่างไรก็ตามไทยเองจะต้องรักษาสมดุลในเรื่องของการค้าและความสัมพันธ์ของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสหรัฐและจีน โดยที่ผ่านมาไทยวางตัวได้อย่างเหมาะสมและใช้ประโยชน์จากสงครามการค้า ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ว่าใครจะชนะจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก ภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้ารอบใหม่ การส่งออกของไทยในปี 2568 ด้วย
นายชัยชาญ กล่าวว่า สำหรับการส่งออกไทยในปีนี้มั่นใจว่า การส่งออกทั้งปีจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 2 % ดูจากตัวเลขภาพรวม 9 เดือนไทยส่งออกรวมมูลค่า 223,176.0 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3.9 % ถือว่า สอบผ่านและทำได้ดี ส่วนโค้งสุดท้ายที่เหลือ 3 เดือนหรือไตรมาส 4 การส่งออกของไทยก็ไม่มีน่าจะมีปัญหามาก โดยในเรื่องของค่าระวางเรือ ก็ไม่สูงมาก จำนวนตู้คอนเทนเนอร์ก็ก็มีเพียงพอ ขณะที่ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 33.5-33.80 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับที่ผู้ ส่งออกสามารถบริหารจัดการได้
“มั่นใจว่าปีนี้ส่งออกไทยจะขยายตัวได้เกินกว่า 2 % แต่ตัวเลขจะเป็นเท่าไรขึ้นอยู่กับความพยายามในช่วงโค้งสุดท้าย ซึ่งโต 2 % จะมีมูลค่า 290,000 ล้านดอลลาร์ และหากคิดเป็นเงินบาทจะอยู่ที่ 10 ล้านล้านบาท เป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 30 ปี ส่วนปี 68 เป็นปีที่ท้าทายเพราะมีปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อการส่งออกของไทย ซึ่งเป้าหมายส่งออกจะเป็นเท่าไร คาดว่า ต้นเดือนธ.ค.จะชัดเจน เพราะหลังจากวันนี้จะได้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ทิศทางเศรษฐกิจโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะมีผลต่อการส่งออกไทยในปี 68 “ นายชัยชาญ กล่าว
นายชัยชาญ กล่าวว่า ปัจจัยบวกที่เอื้อต่อการส่งออกของไม่มี แต่มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ได้แก่
1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ นโยบายกีดกันทางการค้า มาตรการกำแพง ของสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้าที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯการค้า ไม่เฉพาะจีนเท่านั้น สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลางยังคงยืดเยื้อ
2. ดัชนีภาคการผลิต Manufacturing PMI ยังคงชะลอตัวในตลาดสำคัญ ทั้งสหรัฐ จีน ยกเว้นอินเดียที่ดัชนีPMI อยู่ในระดับสูง
3. ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังส่งผลต่อต้นทุนภาคการผลิต ทั้งค่าเงินบาทยังมีความผันผวน แม้ว่าจะอ่อนค่าลงมาเล็กน้อยจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายจากการประชม กนง. ครั้งล่าสุด ขณะเดียวกัน FED มีแนวโน้มที่จะปรับ FED ลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลเริ่มผ่อนคลายและปรับลดลงจากช่วงเวลาก่อนหน้า มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างไรก็ตามอาจต้องเฝ้าระวังหลายสัญญาณที่อาจเกิดขึ้นช่วงปลายปีอีกครั้งหนึ่ง และราคาน้ำมันปรับลดลงต่อเนื่อง กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเปลี่ยนแผนการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีกจากเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนธันวาคม จากความกังวลด้านอุปสงค์ที่ชะลอตัวในหลายตลาดสำคัญ อย่างไรก็ตามความยืดเยื้อของสงครามในตะวันออกกลางยังคงครุกกรุ่นเป็นระยะส่งผลให้ทิศทางของราคายังคงมีความผันผวน
4. มาตรการทางการค้าที่ต้องเฝ้าระวัง ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย กระทบต่อผู้ส่งออกข้าวไทย มาตรการ EUDR เลื่อนการบังคับใช้ออกไปเป็นปี 2569 กระทบราคาและการส่งมอบต่อผู้ส่งออกยางพารา
ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะสำคัญคือ 1. ต้องเฝ้าระวังค่าระวางการขนส่งสินค้าทางทะเล เนื่องจากปัจจัยหลายปัจจัย อาทิ สถานการณ์สู้รบในตะวันออกกลางและความไม่แน่นอนของการเจรจาค่าแรงในท่าเรือฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกายังคงมีอิทธิพลต่อตลาดการขนส่งทางทะเล และความพยายามของสายเรือที่จะปรับเพิ่มขึ้นค่าระวางในเดือนพ.ย.
2. ต้องเฝ้าระวังความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน และเตรียมความพร้อมเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน รวมถึงต้องรักษาเสถียรภาพการเงินไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป
3. เร่งรัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในกลุ่มประเทศศักยภาพ รวมถึงการเจรจาการค้าเสรี และการทำข้อตกลงเพื่อความร่วมมือทางการค้า