'เจ้าหนี้การบินไทย' หวั่นแผนเพิ่มทุนสะดุด 'คลัง' เพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู
”การบินไทย“ แจ้งโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟู 8 พ.ย.67 นี้ “คลัง” ดัน 2 ตัวแทนนั่งผู้บริหารแผน ก่อนสานต่อเป็นบอร์ดชุดใหม่หลังองค์กรพ้นฟื้นฟูกิจการ “เจ้าหนี้” หวั่นซ้ำรอยสายการบินในมือการเมือง
KEY
POINTS
- "การบินไทย" แจ้งเจ้าหนี้เตรียมโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟู 8 พ.ย.67 นี้ เวลา 10 โมง โดยคำร้องพิจารณา 2 ฉบับ ประเด็นขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ เพื่อล้างขาดทุนสะสม 60,000 ล้านบาท และโหวตวาระตั้ง 2 ผู้บริหารแผนฟื้นฟูคนใหม่
- "พิชัย ชุณหวชิร" ดัน 2 ตัวแทนนั่งผู้บริหารแผน เคาะชื่อ "ปัญญา ชูพานิช" ผู้อำนวยการ สนข.กระทรวงคมนาคม และ "พลจักร นิ่มวัฒนา" รองผู้อำนวยการ สคร. กระทรวงการคลัง
- จับตาสานต่อผู้บริหารแผน สู่การตั้งเป็นบอร์ดชุดใหม่หลังองค์กรพ้นฟื้นฟูกิจการ "เจ้าหนี้" หวั่นซ้ำรอยสายการบินในมือการเมือง กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนหน้าใหม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน ธ.ค.นี้
แหล่งข่าวจาก คณะกรรมการเจ้าหนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ภายหลังกระทรวงการคลังใช้สิทธิเจ้าหนี้ในการเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยเสนอผ่านผู้บริหารแผน และได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผน ฉบับที่ 3 ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2567
ทั้งนี้ มีการะบุในหนังสือคำร้องดังกล่าว ขอเพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 ราย ด้วยเหตุผลสืบเนื่องจากการที่ผู้บริหารแผน ได้รับหนังสือจากกระทรวงการคลังแจ้งว่า ด้วยการบินไทยอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบกับภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ศาลเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 กำหนดให้มีผู้บริหารแผนจำนวน 5 ราย ซึ่งการดำเนินงานปัจจุบันคงเหลือผู้บริหารแผน จำนวน 3 ราย
ขณะที่ในช่วงระยะเวลาที่เหลือ ก่อนออกจากการฟื้นฟูกิจการ การบินไทยจะต้องตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญ และมีผลผูกพันถึงการดำเนินงานต่างๆ ในอนาคต ดังนั้นการบินไทยต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อมโยงกับผู้ถือหุ้นของการบินไทย ภายหลังการออกจากการฟื้นฟูกิจการมาร่วมตัดสินใจ และสามารถสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ถือหุ้นของการบินไทย เพื่อให้การบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และการออกจากการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง จึงเห็นสมควรเสนอรายชื่อผู้บริหารแผน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมเป็นคณะผู้บริหารแผนของการบินไทยเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่
1.นายปัญญา ชูพานิช ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม
2.นายพลจักร นิ่มวัฒนา ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง
หวั่นกระทบความเชื่อมั่นราคาหุ้น
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ ระบุด้วยว่า ข้อเสนอของกระทรวงการคลังในการแต่งตั้งตัวแทนเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนนั้น มีข้อกังวลว่าจะเกิดปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เพราะผู้บริหารแผนจะต้องเป็นผู้กำหนดราคาขายหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งหากกำหนดราคาต่ำก็เกิดประโยชน์ในการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในเดือนธ.ค.นี้ แต่ส่งผลเสียต่อการบินไทยในการระดมทุนได้น้อย
อีกทั้งนักลงทุนรายอื่นๆ ก็จะเสียประโยชน์จากการแปลงหนี้เป็นทุนที่หวังให้ราคาหุ้นสูงขึ้น รวมทั้งหากบอร์ดชุดใหม่ของการบินไทยมีตัวแทนส่วนใหญ่มาจากภาครัฐ ก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนหน้าใหม่ ที่กำลังพิจารณาจะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน เพราะเกรงว่าการบินไทยจะกลับไปเป็นสายการบินที่มีภาครัฐแทรกแซงเหมือนที่ผ่านมา
“คลัง” ชี้เหตุจำเป็นเพิ่มผู้บริหารแผน
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าตามที่เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ต่อมาผู้บริหารแผนของบริษัทได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2567 คือ คำร้องขอแก้ไขแผน ฉบับที่ 1
ขณะนี้ผู้บริหารแผนได้พิจารณาเนื้อหาถ้อยคำในแผนฟื้นฟูกิจการเพิ่มเติมแล้วเห็นว่า หากในอนาคตบริษัทจะมีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น แผนฟื้นฟูกิจการควรมีข้อกำหนดที่ชัดเจน ว่าเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการจะได้รับชำระหนี้ก่อนกำหนดเป็นจำนวนเงินที่เท่ากัน อันจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้
ดังนั้น ผู้บริหารแผนจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อขอเพิ่มเนื้อหาในประเด็นดังกล่าวด้วย จึงเป็นคำร้องขอแก้ไขแผน ฉบับที่ 2 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ ซึ่งเป็นวิธีใช้ล้างขาดทุนสะสมปัจจุบันที่มีประมาณ 60,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ สืบเนื่องจากการที่กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ และในฐานะที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทได้มีหนังสือมายังบริษัท เพื่อเสนอให้เพิ่มผู้บริหารแผนจำนวน 2 ราย จึงเป็นคำร้องขอแก้ไขแผน ฉบับที่ 3
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงเหตุผล และความจำเป็นโดยสรุปว่า เนื่องจากในช่วงเวลาการดำเนินการตามแผนที่เหลืออยู่ บริษัทจะต้องตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญ และมีผลผูกพันถึงการดำเนินงานต่างๆ ในอนาคต
โดยการตัดสินใจที่สำคัญดังกล่าว บริษัทจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ถือหุ้นของบริษัทภายหลังการออกจากการฟื้นฟูกิจการมาร่วมตัดสินใจ และสามารถสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการ ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งผู้ถือหุ้นของบริษัท เพื่อให้การบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และการออกจากการฟื้นฟูกิจการของบริษัทเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ซึ่งผู้บริหารแผนพิจารณาแล้วเห็นว่าควรนำข้อเสนอของกระทรวงการคลังเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาลงมติตามความเห็นของเจ้าหนี้ต่อไป
ลุ้นที่ประชุมเจ้าหนี้ 8 พ.ย.67 นี้
ทั้งนี้ ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้บริหารแผนจึงเห็นควรให้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเพิ่มผู้บริหารแผน 2 คน และด้วยเหตุผล และความเป็นมาข้างต้น ในวันที่ 4 พ.ย.2567 บริษัท จึงได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฉบับที่ 2 และคำร้องขอแก้ไขแผน ฉบับที่ 3 ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี
โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดนัดประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 8 พ.ย.2567 เวลา 10.00 น. เพื่อพิจารณาข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการตามคำร้องขอแก้ไขแผนทั้ง 3 ฉบับ (กล่าวคือ คำร้องขอแก้ไขแผน ฉบับที่ 1 คำร้องขอแก้ไขแผน ฉบับที่ 2 และคำร้องขอแก้ไขแผน ฉบับที่ 3) ในการประชุมเจ้าหนี้คราวเดียวกัน ทั้งนี้ บริษัท จะแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์