การเมืองแทรกแซง ‘การบินไทย’ คลังแก้แผนฟื้นฟู คุมเสียงผู้บริหารแผน 3 ใน 5
“การบินไทย” ระส่ำการเมืองแทรกแซง รัฐเล็งยึดคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูรวม 3 คน คุมเสียงส่วนใหญ่ “คลัง” ใช้สิทธิเจ้าหนี้ขอแก้ไขแผนฟื้นฟู ยื่นตั้ง 2 ผู้บริหารแผนเพิ่มเติม จับตาโหวต 8 พ.ย.นี้ ตัวแทนเจ้าหนี้หวั่นกระทบกำหนดราคาแปลงหนี้เป็นทุน
KEY
POINTS
- “การบินไทย” ระส่ำการเมืองแทรกแซง รัฐเล็งยึดคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูรวม 3 คน คุมเสียงส่วนใหญ่ “คลัง” ใช้สิทธิเจ้าหนี้ขอแก้ไขแผนฟื้นฟู ยื่นตั้ง 2 ผู้บริหารแผนเพิ่มเติม
- เปิดชื่อเสนอผู้บริหารแผนคนใหม่พบดึง “พลจักร นิ่มวัฒนา” รอง ผอ.สคร.กระทรวงการคลัง และ “ปัญญา ชูพานิช” ผอ.สนข.กระทรวงคมนาคม จับตาโหวตผ่านหรือไม่ 8 พ.ย.67 นี้
- ด้านตัวแทนเจ้าหนี้หวั่นกระทบกำหนดราคาแปลงหนี้เป็นทุน ดึงองค์กรกลับไปอยู่ใต้การเมือง เนื่องจากมีผลต่อการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) หลังการบินไทยพ้นแผนฟื้นฟู
การฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 หลังจากนั้นผู้บริหารแผน 5 คน ที่ศาลแต่งตั้งเข้าทำหน้าที่บริหารการบินไทยให้เป็นไปตามแผน
ต่อมาผู้บริหารแผนฟื้นฟูจากธนาคารกรุงเทพ ลาออก 2 คน ทำให้เหลือผู้บริหารแผนฟื้นฟู 3 คน คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ,นายพรชัย ฐีระเวช และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร โดยล่าสุดการบินไทยกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการขายหุ้นเพิ่มทุน และเตรียมออกจากแผนฟื้นฟูกิจการหลังจากผลดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย
แหล่งข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า วันที่ 4 พ.ย.2567 การบินไทยยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเพิ่มเติม ตามที่กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้เสนอขอแต่งตั้งผู้บริหารแผนเพิ่มเติม 2 คน ซึ่งเป็นตัวแทนภาครัฐ ประกอบด้วย
1.นายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง
2.นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม
อย่างไรก็ดี การเสนอขอแต่งตั้งผู้บริหารแผนเพิ่มเติมครั้งนี้ จะพิจารณาพร้อมกับวาระการปรับโครงสร้างทุน เพื่อขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ ซึ่งเป็นวิธีใช้ล้างขาดทุนสะสมปัจจุบันที่มีประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยศาลล้มละลายกลางได้นัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวในวันที่ 8 พ.ย.67 นี้ และหากเจ้าหนี้โหวตเห็นชอบก็จะมีผลแต่งตั้งผู้บริหารแผนทันที
สำหรับการที่กระทรวงการคลังเสนอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ และหากได้รับการอนุมัติจากเจ้าหนี้จะส่งผลให้ผู้บริหารแผนการบินไทยเพิ่มเป็น 5 คน โดยทำให้มีผู้บริหารแผนจากภาครัฐรวม 3 คน ถือเป็นจำนวนส่วนใหญ่ของผู้บริหารแผนทั้งหมด โดยเฉพาะกระทรวงการคลังจากมีผู้บริหารแผนถึง 2 คน คือ นายพรชัย ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และนายพลจักร
“คลัง” ขอแก้แผนฟื้นฟูเพิ่มผู้บริหารแผน
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเจ้าหนี้การบินไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังใช้สิทธิในการเป็นเจ้าหนี้ยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูด้วยการเพิ่มผู้บริหารแผนเพื่อทำให้การบริหารแผนมีประสิทธิภาพ โดยพบว่ามีการเสนอรายชื่อนี้มาตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ซึ่งเสนอผ่านผู้บริหารแผน และคณะกรรมการเจ้าหนี้ ก่อนจะเสนอไปยังกองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี เมื่อวันที่ 4 พ.ย.67 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ในฐานะเจ้าหนี้การบินไทยรับทราบถึงการเสนอรายชื่อผู้บริหารแผนดังกล่าว แต่เนื่องจากจะมีการโหวตกะทันหันในวันที่ 8 พ.ย.67 นี้ จึงไม่สามารถตอบได้ว่าเจ้าหนี้ส่วนใหญ่จะโหวตไปในทิศทางใด เนื่องจากเจ้าหนี้การบินไทยมีหลากหลายกลุ่ม อาทิ เจ้าหนี้สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้สหกรณ์ ซึ่งเจ้าหนี้เหล่านี้จำเป็นต้องนัดประชุมภายในเพื่อกำหนดทิศทางโหวต
ทั้งนี้ เมื่อระยะเวลาที่กระชั้นชิด อาจทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถเรียกประชุมภายในได้ทัน และอาจทำให้เจ้าหนี้หลายกลุ่มต้องโหวตงดออกเสียง ซึ่งหากเป็นลักษณะนี้การงดออกเสียงจะไม่ถูกนำมานับคะแนน และอาจทำให้เจ้าหนี้กลุ่มใหญ่อย่างกระทรวงการคลัง สามารถโหวตผ่านแผนฟื้นฟู และแต่งตั้งผู้บริหารแผนตามรายชื่อที่เสนอเข้ามาได้
รัฐคุมเสียงผู้บริหารแผน 3 ใน 5
แหล่งข่าว กล่าวว่า หากผู้บริหารแผนตัวแทนจากภาครัฐเข้ามาดำเนินงาน ก็จะส่งผลทำให้การบินไทยมีผู้บริหารแผนจำนวน 5 คน แต่เป็นตัวแทนจากภาครัฐแล้ว 3 คน ซึ่งมีความเสี่ยงในการบริหารงาน และกำหนดทิศทางของการบินไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียว อีกทั้งในช่วงหลังจากนี้การบินไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนปรับโครงสร้างทุน ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญของการแปลงหนี้เป็นทุน และเสนอขายหุ้นเพิ่มเติม
โดยมีข้อกังวลว่าการเข้ามาของตัวแทนภาครัฐ เฉพาะกระทรวงการคลังที่มีตัวแทนมากถึง 2 คน จะมีข้อกังขาต่อการกำหนดราคาแปลงหนี้เป็นทุน เพราะผู้บริหารแผนจะต้องเป็นผู้กำหนดราคาดังกล่าว หากกำหนดราคาถูกผู้ได้เปรียบก็คือ เจ้าหนี้ ซึ่งรวมถึงกระทรวงการคลัง อีกทั้งเกรงว่าจะมีผลต่อการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยหลังจากนี้ ที่คาดว่าจะมีตัวแทนจากผู้บริหารแผนเข้าร่วมด้วย
เจ้าหนี้ค้านเพิ่มผู้บริหารแผน
“ตอนนี้คงต้องดูท่าทีของเจ้าหนี้ว่าจะโหวตไปในทิศทางใด แต่ส่วนตัวในฐานะเจ้าหนี้การบินไทย ไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งผู้บริหารแผนที่มาจากภาครัฐเพิ่มเติม โดยเฉพาะจากกระทรวงการคลัง เพราะจะมีข้อกังขาเกี่ยวกับการกำหนดราคาหุ้นที่กำลังจะแปลงหนี้กัน และปฏิเสธไม่ได้ว่าหากมีผู้บริหารแผนส่วนใหญ่ที่มาจากภาครัฐ การบินไทยก็จะตกอยู่ในอำนาจการเมือง”แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของการบินไทยกำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 8 พ.ย.67 นี้ ขึ้นอยู่กับการโหวตของเจ้าหนี้ โดยเฉพาะเจ้าหนี้ใหญ่ของการบินไทย อย่างกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ เพราะถือเป็นเจ้าหนี้ที่มีอำนาจโหวตมากสุด เนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่งรวมกัน จะคิดเป็นเจ้าหนี้การบินไทยถึง 40,000 ล้านบาท ในขณะที่กระทรวงการคลัง เป็นเจ้าหนี้ 12,500 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอนั้นนับเป็นคำร้องแก้ไขแผนฉบับที่ 3 โดยมีรายละเอียดในการแก้ไขเพิ่มเติมผู้บริหารแผน สืบเนื่องจากกระทรวงการคลัง เล็งเห็นว่าภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ศาลเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 กำหนดให้มีผู้บริหารแผนจำนวน 5 ราย ซึ่งการดำเนินงานปัจจุบันคงเหลือผู้บริหารแผนเพียง 3 ราย
ขณะที่ในช่วงเวลาที่เหลือก่อนออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทยจะต้องตัดสินในเรื่องสำคัญ และมีผลผูกพันถึงการดำเนินงานต่างๆ ในอนาคต โดยการตัดสินใจที่สำคัญดังกล่าว การบินไทยจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ถือหุ้นของการบินไทยภายหลังการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการมาร่วมตัดสินใจ และสามารถสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการ และการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์