'สหกรณ์' เดินเกมสกัด 'คลัง' ชงเลื่อนประชุมเจ้าหนี้บินไทย
"เจ้าหนี้การบินไทย" เตรียมเสนอเลื่อนโหวตตั้ง 2 ผู้บริหารแผนฟื้นฟูคนใหม่ "สหภาพแรงงาน" นัดรวมตัวค้านการเมืองแทรกแซง หวั่นปั่นราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ระบุสัญญาณลบเริ่มกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน
KEY
POINTS
- จับตา "เจ้าหนี้การบินไทย" เตรียมเสนอเลื่อนโหวตตั้ง 2 ผู้บริหารแผนฟื้นฟูคนใหม่ตามข้อเสนอกระทรวงการคลัง เหตุเป็นวาระกระชั้นชิด
- "สหภาพแรงงาน" นัดรวมตัว ค้านฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงองค์กร หวั่นปั่นราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน
- พบสัญญาณลบเริ่มกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนหน้าใหม่ ชี้หากเดินหน้าตั้งบอร์ดเข้าบริหารองค์กร อาจมีผลโยกย้ายฝ่ายบริหาร และรื้อแผนจัดหาเครื่องบิน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดนัดประชุมเจ้าหนี้วันที่ 8 พ.ย.2567 เวลา 10.00 น. ซึ่งจะจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่การบินไทย และช่องทางประชุมออนไลน์ โดยมี 3 วาระพิจารณา ประกอบด้วย
1.วาระขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสมหลักทรัพย์ที่มีประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยวาระนี้เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ทราบว่าขั้นตอนดังกล่าวเป็นกระบวนการทางบัญชี เพื่อประโยชน์ต่อการปรับโครงสร้างทุน จะทำให้ส่วนทุนเป็นบวก และไม่ได้กระทบต่อการชำระหนี้ จึงคาดการณ์ว่าวาระพิจารณาที่ 1 จะผ่านการเห็นชอบจากเจ้าหนี้
2.วาระขอพิจารณาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟู โดยการบินไทยจะเสนอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนกำหนด เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะมีการเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ ซึ่งวาระพิจารณานี้เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหนี้ จึงคาดว่าจะผ่านการเห็นชอบ
3.วาระขอพิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู ซึ่งเจ้าหนี้เตรียมเสนอเลื่อนการพิจารณาวาระนี้ออกไปก่อน โดยวาระดังกล่าวจะพิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารแผน 2 ราย ประกอบด้วย นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง และจราจร กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง
ทั้งนี้กระทรวงการคลัง ระบุเหตุผลของการเสนอวาระพิจารณาดังกล่าว โดยการบินไทยอยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบกับภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการฉบับที่ศาลเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 กำหนดให้มีผู้บริหารแผนจำนวน 5 ราย
ขณะที่การดำเนินงานปัจจุบันคงเหลือผู้บริหารแผน จำนวน 3 ราย และในช่วงเวลาที่เหลือก่อนออกจากแผนฟื้นฟู การบินไทยมีเรื่องต้องตัดสินใจสำคัญหลายเรื่อง จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยพิจารณา และเชื่อมโยงผู้ถือหุ้น
สหกรณ์เดินเกมขอเลื่อนประชุม
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ขณะนี้มีเจ้าหนี้บางกลุ่ม อาทิ กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ เสนอขอเลื่อนการพิจารณาวาระแต่งตั้งผู้บริหารแผนเพิ่มเติม 2 ราย ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ
ทั้งนี้เห็นว่าวาระดังกล่าวเป็นการเสนอมาเร่งด่วน และกระชั้นชิดเมื่อวันที่ 4 พ.ย.2567 ส่งผลให้เจ้าหนี้หลายกลุ่มไม่สามารถนัดประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางลงมติในวาระดังกล่าวได้ และที่ประชุมเจ้าหนี้จะพิจารณาวาระแต่งตั้งผู้บริหารแผนคนใหม่ทันทีอาจทำให้มติไม่เป็นไปตามเสียงข้างมากอย่างเหมาะสม เพราะอาจมีเจ้าหนี้หลายกลุ่มต้องงดออกเสียง ซึ่งการงดออกเสียงจะไม่ถูกนำมานับเป็นคะแนนลงมติ
นอกจากนี้ ในฐานะเจ้าหนี้การบินไทยมีความเห็นต่อข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ที่นำบุคคลภาครัฐมาเป็นผู้บริหารแผนเพิ่มเติมนั้น เชื่อว่าภาครัฐโดยกระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ต้องการใช้สิทธิและออกเสียงในการกำหนดทิศทาง และการบริหารองค์กรช่วงเปลี่ยนผ่านออกจากแผนฟื้นฟู และต้องการให้การบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติที่ตอบสนองนโยบายรัฐบาล
รวมทั้งหากวันนี้การบินไทยยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนั้นไม่ว่าวันนี้กระทรวงการคลังจะส่งตัวแทนเข้ามาได้หรือไม่ แต่การตั้งคณะกรรมการการบินไทยจะเกิดขึ้นต้นปี 2568 ต้องมีตัวแทนกระทรวงการคลัง เข้ามาเป็นกรรมการการบินไทย
"ตอนนี้การบินไทยต้องกำหนดทิศทางการทำงานให้ชัดเจน ไม่ให้ภาครัฐเข้ามากำกับดูแลแบบเดิม แต่สามารถออกสิทธิ และเสียง มีความเห็นในการทำงานเพื่อเป็นสายการบินแห่งชาติได้” แหล่งข่าว กล่าว
เป็นวาระสำคัญแต่ “คลัง” เสนอกระชั้น
แหล่งข่าวจากการบินไทย กล่าวว่า หากเจ้าหนี้มีการเสนอเลื่อนลงคะแนนในวาระที่ 3 เรื่องขอพิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูมีโอกาสที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจรับไว้พิจารณา เพราะวาระดังกล่าวถูกเสนอมาในระยะเวลากระชั้นชิด อีกทั้งเป็นวาระสำคัญที่มีผลต่อการบริหารงานหลังจากนี้
แต่หากวาระถูกนำมาพิจารณา และผ่านการเห็นชอบจะมีผลทำให้ผู้บริหารแผนทั้ง 2 รายมีส่วนในการกระบวนการฟื้นฟูกิจการทันที โดยเฉพาะขั้นตอนแปลงหนี้เป็นทุน และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน รวมถึงการพิจารณาโครงสร้างบอร์ดชุดใหม่ที่จะขอความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ในเดือนธ.ค.นี้
“หากผู้บริหารแผนการบินไทยมี 3 ต่อ 2 เสียงมาจากภาครัฐ ก็อาจจะมีข้อกังขาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interests) เพราะคลังเป็นเจ้าหนี้การบินไทย หากมีตัวแทนเข้ามากำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน หากกำหนดราคาต่ำเกินไปก็ส่งผลบวกต่อคลังในฐานะเจ้าหนี้ที่จะเข้ามาซื้อ” แหล่งข่าวกล่าวกับกรุงเทพธุรกิจ
กระทบความเชื่อมั่นเจรจานักลงทุน
แหล่งข่าวกล่าวว่า กรณีกระทรวงการคลังเสนอรายชื่อตัวแทนเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูเพิ่มเติม และส่งผลให้มีตัวแทนภาครัฐ 3 ต่อ 2 เสียง เริ่มกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนที่กังวลว่าการบินไทยกำลังกลับไปสู่สถานะสายการบินที่ภาครัฐกำกับดูแล และจะไม่เกิดความคล่องตัวทางธุรกิจ ซึ่งผลกระทบนี้อาจทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ไม่ตัดสินใจซื้อหุ้นเพิ่มทุน
นอกจากนี้ ผู้บริหารแผนยังมีสิทธิเสนอชื่อผู้เหมาะสมเข้ามาเป็นกรรมการการบินไทยในส่วนกรรมการอิสระ เพิ่มจากสัดส่วนเก้าอี้ตามสิทธิผู้ถือหุ้น ดังนั้นหากภาครัฐมีบทบาทเป็นผู้บริหารแผนในสัดส่วนเสียงข้างมากจะสะท้อนโครงสร้างบอร์ดการบินไทยที่กำลังจัดตั้ง
อีกทั้งจะมีผลต่อการบริหารงานการบินไทยหลังพ้นแผนฟื้นฟูกิจการ การปรับตำแหน่งฝ่ายบริหาร และแผนจัดหาเครื่องบินตามสิทธิเพิ่มเติมอีก 35 ลำ ที่ก่อนหน้านี้ได้ทำสัญญาไว้กับโบอิง โดยเป็นสัญญาเปิดกว้างที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
วางแผนป้องกันรื้อแผนซื้อเครื่อง
ผู้สื่อข่าวกรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า ช่วงที่ผ่านมาผู้บริหารแผนและฝ่ายบริหารการบินไทย ได้วางกลยุทธ์บริหารเครื่องบินเพื่อลดต้นทุนและทำสัญญาจัดหาล่วงหน้า เพื่อป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองเหมือนในอดีต โดยมีการปรับฝูงบินการบินไทย ลดแบบเครื่องบินที่มีความหลากหลายเกินไป ทำให้มีต้นทุนอะไหล่จำนวนมาก
นอกจากนี้ เมื่อเดือนก.พ.2567 การบินไทยได้ทำข้อตกลงจัดหาเครื่องบินโบอิง 787 Dreamliner ลำใหม่ 45 ลำ พร้อมเครื่องยนต์ GEnx รวมทั้งสิทธิในการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติม 35 ลำ รวมเป็น 80 ลำ
ทั้งนี้จะทยอยส่งมอบในปี 2570 และเป็นแผนบริหารฝูงบินเข้าประจำการ 10 ปีหลังจากนี้ แต่ข้อตกลงการจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติม 35 ลำ เป็นสัญญาเปิดกว้างที่เปลี่ยนแปลงรุ่นเครื่องบิน รวมถึงเจรจายกเลิกได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์