จับตา“บอร์ดแพลตฟอร์มเรียกรถ” วางมาตรฐานบริการขนส่งแผนแอป
การเดินทางและขนส่งที่มีโลกดิจิทัลเป็นเครือข่ายการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันบริการเรียกรถรับส่งปัจจุบัน“กรมการขนส่งทางบก” รับรองแล้ว11ราย
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือ สว.มธ. (TU-RAC) โดย ผศ. ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้บริหารโครงการโครงการ ระบุไว้ในผลงานวิจัยหัวข้อ ความท้าทายของคนขับผู้ให้บริการรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย" ว่า ปัจจุบันธุรกิจนี้มีมูลค่าตลาดรวมสูงกว่า 7 หมื่นล้านบาท แต่การเข้าถึงและการให้บริการธุรกิจนี้ยังเผชิญปัญหาอีกมากมาย
สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการแก้ไขปัญหารถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะ ครั้งที่ 2/2567 เพื่อหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายรถรับจ้างสาธารณะให้ทันสมัย และพัฒนาระบบการบริการให้เหมาะกับยุคดิจิทัล ว่า ตามที่ ขบ. ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เพื่อดำเนินการออกกฎหมายลำดับรอง “ร่างประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทบริการรถยนต์รับจ้างสาธารณะ (Ride Sharing) เป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะ และมีหน้าที่เพิ่มเติม พ.ศ. ....” ภายใต้พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 เพื่อกำหนดหน้าที่เพิ่มเติมของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม เช่น การนำรถที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎกระทรวงมาให้บริการ และผู้ขับรถต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะมาให้บริการในแอปพลิเคชัน เป็นต้น
ทั้งนี้ สพธอ. จะนำเสนอต่อคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงานของรัฐภายในเดือนพ.ย. 2567 และคาดว่าจะออกประกาศใช้ได้ในช่วงเดือนธ.ค. 2567 - ม.ค. 2568
นอกจากนี้ ในที่ประชุม กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองปัญหารถจักรยานยนต์สาธารณะ ตามข้อเสนอของผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะทั้งสิ้น 10 ประเด็น ได้แก่ 1. การบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันต่อการนำรถส่วนบุคคลมาให้บริการ
2. การกำกับแอปพลิเคชันที่ให้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน 3. การส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 4. การจัดให้มีงบประมาณในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ 5. การเปิดให้ลงทะเบียนคนใหม่ในวินเดิมเป็นการเร่งด่วน
6. การแก้ไขปัญหาวินเถื่อน 7. การแยกประเภทรถจักรยานยนต์สาธารณะ 8.การทำความเข้าใจเกี่ยวกับอายุของผู้ขับรถจักรยานยนต์ 9. การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการกำหนดบทลงโทษผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และ 10. การติดตามเรื่องการจัดทำแอปพลิเคชันกลาง
สำหรับการพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่ ขบ. รายงานว่าคณะอนุกรรมการกลั่นกรองปัญหารถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI - METER) ได้ดำเนินการพิจารณาตามข้อเสนอของกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่ 26 ข้อ ดำเนินการแล้วเสร็จ 12 ประเด็น อยู่ระหว่างการดำเนินการ 11 ประเด็น และอยู่ระหว่างพิจารณา 3 ประเด็น
ในส่วนประเด็นหลักที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ คือ เรื่องกฎหมายกำกับแอปพลิเคชัน และอยู่ระหว่างการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) คือ การพิจารณาขอบเขตการใช้มาตรค่าโดยสารของรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนในกรุงเทพมหานคร และการกำหนดขนาดรถแท็กซี่และอายุแรกเข้า
“ได้มอบหมายให้ ขบ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโครงการต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดมาตรฐานรถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะ การดูแลสภาพรถ การขนส่งพัสดุภัณฑ์ อาหาร รวมถึงเครื่องมือสื่อสารที่ติดอยู่กับตัวรถ โดยให้นำมารายงานความคืบหน้าในการประชุมครั้งถัดไป”
สำหรับผู้ร่วมประชุมประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)