"เอฟทีเอไทย-เอฟตา" เชื่อมโอกาสการค้า การลงทุน ไทย -ยุโรป
ไทยจ่อลงนามเอฟทีเอไทย-เอฟตา ( EFTA )ฉบับที่ 16 ต้นปี 68 รับสถานการณ์โลกการค้า 2 ขั้ว เพิ่มตลาดส่งออก ลดความเสี่ยงสงครามการค้า คาดทำจีพีดีไทยขยาย 0.179 % เผย เป็นเอฟทีเอฉบับแรกที่ไทยทำกับยุโรป
KEY
POINTS
Key Point
- สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือเอฟตา (EFTA) มีสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์
- คาดลงนามเอฟทีเอไทย-เอฟตา เดือนม.ค.ช่วงการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
- เอฟทีเอไทย-เอฟตา จะทำให้ GDP ของไทยขยายตัว 0.179 % ต่อปี
- สนค. ชี้ ไทย-อียู และ ไทย-เอฟตา จะช่วยขยายโอกาสทางการค้า เพิ่มความน่าดึงดูดใจแก่นักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
การเจรจาความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ (FTA ) ถือเป็นนโยบายสำคัญลำดับต้น ๆ ของรัฐบาล ปัจจุบันไทยมีเอฟทีเอ 15 ฉบับ กับ 19 ประเทศ แต่ไทยยังไม่มีเอฟทีเอกับประเทศในภูมิภาคยุโรป
แต่ล่าสุด ไทยกำลังจะมีเอฟทีเอกับประเทศยุโรป ซึ่งเป็นเอฟทีเอฉบับแรกที่ทำกับยุโรป คือ เอฟทีเอไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือเอฟตา (EFTA) โดยนาย"พิชัย นริพทะพันธุ์"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดในการเจรจาเอฟทีเอไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือเอฟตา (EFTA) ที่มีสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ว่า ขณะนี้การเจรจาเอฟทีเอฉบับนี้จะเปิดดีลการเจรจาได้ในสิ้นปี 2567 และมีผลจะลงนามต้นปี 2568 ช่วงการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ทั้งนี้กลุ่มเอฟตาเป็นกลุ่มประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปหรืออียู แต่ถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดี ซึ่งเอฟตาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 16 ของไทยโดยปี 2566 การค้าระหว่างไทย-เอฟตา มีมูลค่า 9,882.75 ล้านดอลลาร์ หดตัว14.67 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคิดเป็น 1.72 % ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก
โดยไทยส่งออกไปเอฟตา มูลค่า 4,385.01 ล้านดอลลาร์ และไทยนำเข้าจากเอฟตา มูลค่า 5,497.75 ล้านดอลลาร์ หากแยกเป็นรายประเทศพบว่า การค้าระหว่างไทยกับสวิตเซอร์แลนด์มีการค้ามากที่สุดในประเทศสมาชิกเอฟตา ด้วยมูลค่า 8,951.03 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของการค้าไทยกับเอฟตา ตามด้วยนอร์เวย์ 846.36 ล้านดอลลาร์ ลิกเตนสไตน์ 70.05 ล้านดอลลาร์ และไอซ์แลนด์ 20.12 ล้านดอลลาร์
"พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์" ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ( สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า “เอฟตา”เป็นตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง มีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
"คาดว่า เอฟทีเอไทย- เอฟตา จะทำให้จีดีพีไทยขยายตัว 0.179 % ต่อปี พร้อมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออก อาทิ สินค้าเกษตร รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป และมีส่วนช่วยให้ไทยขยายตลาดการส่งออกได้มากขึ้น"นายพูนพงษ ระบุ
เอฟทีเอไทย-เอฟตา นับเป็น “ข่าวดี” สำหรับโอกาสทางการค้าการลงทุนของไทย ยิ่งขณะนี้สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศหลัง”นายโดนัลด์ ทรัมป์” ผงาดขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 ซึ่งคาดการณ์ว่า นโยบายการค้าจะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการกลับมาของสงครามการค้ารอบใหม่ และมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า ซึ่งจะกระทบกับการค้าการลงทุนโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกย่อมได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้นการมีเอฟทีเอกับเอฟตา จึงเป็นไทม์ไลน์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์การค้าในขณะนี้ที่จะทำให้ไทยความลดความเสี่ยงจากผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสหรัฐและจีน และมาตรการกีดกันทางการค้า
นอกจากนี้ยังเป็นทิศทางที่ดีสำหรับการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ที่ยังค้างอยู่ให้ปิดดีลได้เร็วขึ้น เพราะที่ผ่านมามีการเจรจากัน3 รอบแต่ยังมีบางประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ล่าสุดเมื่อเดือนมิ.ย. 2567 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และมีแผนการเจรจารอบที่ 4 ในช่วงปลายเดือนพ.ย.นี้ ณ กรุงเทพฯ ตั้งเป้าปิดดีลการเจรจาให้ได้ปลายปี 2568
หากว่าเป็นไปตามแผน และได้มีการลงนาม ก็ทำให้ไทยมีเอฟทีเอครอบคลุมกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปเพราะกลุ่มประเทศอียูประกอบด้วยประกอบด้วยสมาชิก 27 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม บัลแกเรีย ไซปรัส เช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย สเปน สวีเดน และโครเอเชีย
ทั้งนี้“พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์”มองว่า การเจรจาจัดทำเอฟทีเอของไทยในภูมิภาคยุโรปที่กำลังดำเนินอยู่ ทั้ง ไทย-อียู และ ไทย-เอฟตา จะช่วยขยายโอกาสทางการค้า เพิ่มความน่าดึงดูดใจแก่นักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งการใช้ประโยชน์จาก เอฟทีเอ ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสขยายธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่มีมาตรฐานสูงให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และมีความต้องการสินค้าที่หลากหลาย
นอกจากนี้ ยังจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสการเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ ทว่าการเจรจายังคงมีความท้าทายจากประเด็นใหม่ ๆ อย่างเช่น การจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน และแรงงาน ดังนั้น ไทยจึงควรเตรียมตัวเพื่อรับมือกับกฎระเบียบและมาตรฐานทางการค้าที่เข้มงวดขึ้นกว่าความตกลงฯ ที่ไทยเคยทำไว้ในอดีต