โจทย์ใหญ่ 'พลังงาน' แก้กฎหมาย ล้างไพ่สัมปทานพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

โจทย์ใหญ่ 'พลังงาน' แก้กฎหมาย ล้างไพ่สัมปทานพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

โจทย์ใหญ่! กระทรวงพลังงาน เร่งแก้กฎหมาย จ่อล้างไพ่สัญญาสัมปทานพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล "ไทย-กัมพูชา" ย้ำต้องได้ประโยชน์ร่วมกัน

KEY

POINTS

  • นายกฯ ระบุ การหารือกัมพูชาไม่ได้พูดคุยเกี่ยวกับที่ดิน แต่พูดถึงที่ดินในทะเลว่าสัดส่วนใครขีดเส้นอย่างไร เพราะในเอ็มโอยูขีดเส้นไม่เหมือนกัน 
  • รัฐบาลต้องเปลี่ยนคณะกรรมการ JTC ไทย-กัมพูชา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะนาน เมื่อเสร็จแล้วจะได้ศึกษาและพูดคุยกันว่าระหว่าง 2 ประเทศตกลงกันอย่างไร 
  • พีระพันธุ์ จะเร่งศึกษากฎหมายเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมที่มีการให้สัมปทานไปก่อนหน้านี้ และประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เกิดความอุ่นใจ เพราะเป็นเรื่องสำคัญสุด ถือเป็นเรื่องเขตแดนประเทศ

รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความมุ่งมั่นที่จะเจรจาดึงทรัพยากรใต้ทะเลไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศที่ยังมีความผันผวนของราคา

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เรียกประชุมหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ถึงความชัดเจนเรื่อง MOU 44 ที่เกี่ยวข้องกับเกาะกูด และเกาะกูดไม่ได้อยู่ในเอ็มโอยูเรื่องนี้ น.ส.แพทองธาร ระบุว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีการถกเถียง เพราะเกาะกูดเป็นของไทย และหากไปดูการตีเส้นเขาก็ตีเส้น เว้นเกาะกูดไว้ให้ไทย 

นอกจากนี้ การพูดคุยกันไม่ได้พูดคุยเกี่ยวกับที่ดิน แต่พูดถึงที่ดินในทะเลว่าสัดส่วนใครขีดเส้นอย่างไร เพราะในเอ็มโอยูขีดเส้นไม่เหมือนกัน เนื้อหาในเอ็มโอยูเป็นข้อตกลงร่วมกันว่าจะมีการเจรจากันระหว่าง 2 ประเทศ ดังนั้นหากจะเกิดอะไรขึ้นจะมีข้อตกลงอะไรเราต้องมีคณะทำงานขึ้นมาพูดคุยกัน ตอนนี้คณะกรรมการของกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ของไทยเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็ต้องเปลี่ยน 

ดังนั้น ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชาด้วย และตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี มีคณะกรรมการนี้เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวอยู่ ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะนาน เพราะดำเนินการมาประมาณ 1 เดือนแล้ว เมื่อเสร็จแล้วจะได้ศึกษาและพูดคุยกันว่าระหว่าง 2 ประเทศตกลงกันอย่างไร 

นอกจากนี้ การไม่ยกเลิกเอ็มโอยูทำให้คนมองว่าไทยยอมรับการขีดเส้นของกัมพูชาหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ถือเป็นความเข้าใจผิด ไทยไม่ได้ยอมรับเส้นอะไร เอ็มโอยูดังกล่าวคือ การที่คิดไม่เหมือนกัน แต่ต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ ตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชาขีดเส้นมาก่อน ต่อมาปี 2516 ไทยขีดเส้นด้วย แม้จะขีดเหมือนกันแต่ข้อตกลงข้างในไม่เหมือนกัน จึงทำเอ็มโอยูขึ้นมา 

และเปิดการเจรจาให้ทั้ง 2 ประเทศตกลงกันว่าจะเป็นอย่างไร ขอย้ำว่าเกาะกูดไม่เกี่ยวกับการเจรจานี้ ให้คนไทยทุกคนสบายใจได้เลยว่าเราจะไม่เสียเกาะกูดไป และกัมพูชาก็ไม่ได้สนใจเกาะกูดของเราด้วย ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงเอ็มโอยูปี 2544 ยกเลิกไม่ได้ หากไม่เกิดการตกลงของทั้ง 2 ประเทศ เรื่องนี้ต้องเข้าที่ประชุมรัฐสภา และในปี 2552 ไม่มีเรื่องเข้าในรัฐสภา อีกทั้ง หากยกเลิกแล้วจะได้อะไร เราต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศคิดไม่เหมือนกันได้ จึงต้องมีเอ็มโอยูว่าถ้าคิดไม่เหมือนกันก็ต้องคุยกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ถ้ายกเลิกฝ่ายเดียวโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาแน่นอน ซึ่งไม่มีประโยชน์ 

ทั้งนี้ นายกฯ ได้ยืนยันที่จะเดินต่อ เพราะกัมพูชารอไทยตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา ที่จะไปศึกษา และพูดคุย ซึ่งกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพลังงาน จะมาช่วยกัน

ขณะที่ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงจุดยืนของพรรค ต่อการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา นั้น ภาพใหญ่ของพรรคต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่สุดอยู่แล้ว ต้องไม่มีการนำพื้นที่อธิปไตยไปเจรจาต่อรองในทุกรูปแบบ

ดังนั้น ไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาแบบไหน จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ส่วนสิ่งที่คนกังวลคือ เรื่องเกาะกูด ก็ได้รับคำยืนยันว่า เป็นของประเทศไทยแน่นอน ไม่ว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม หรือจะยกเลิกเอ็มโอยู 44 เกาะกูดก็ยังเป็นของไทย เป็นจุดยืนของพรรคร่วมทั้งหมด

ทั้งนี้ หลังประชุมพรรคร่วม จากการสอบถามนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ได้ให้ความสำคัญคือ เรื่องเขตแดน เนื่องจากเป็นนักกฎหมาย จึงจะไปศึกษากฎหมายเพิ่มเติม ทั้งในตัวเอ็มโอยู 2544 และกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเอ็มโอยู 2544 เดิมทีเป็นภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานด้านความมั่นคง ในส่วนของกระทรวงพลังงานเป็นเรื่องการเจรจาผลประโยชน์ร่วม

นอกจากนี้ นายพีระพันธุ์ยังมีความกังวล เพราะเดิมทีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมีการสัมปทานไปก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ จึงกำลังศึกษาอยู่ว่า หากเป็นไปแบบนั้นจริง ประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เกิดความอุ่นใจ เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เป็นเรื่องเขตแดนของประเทศ

ซึ่งไม่เฉพาะพื้นที่บนเกาะกูดเท่านั้น แต่ในทางกฎหมายยังหมายรวมถึงพื้นที่ในทะเล หรือพื้นที่สิทธิประโยชน์ทางทะเล ถ้าเรายืนยันว่า เกาะกูดเป็นของไทย พื้นที่อื่นที่เกี่ยวเนื่องก็ต้องเป็นของไทยด้วย

ทั้งนี้ การทำข้อตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ตาม MOU 2544 มีแนวทางที่จะพักการเจรจาส่วนนี้ไว้เพราะจะหาข้อสรุปได้ลำบากและจะมีผลต่อการพัฒนาพื้นที่ทางทะเล รวมทั้งจะมีการเจรจารูปแบบการพัฒนาพื้นที่และการแบ่งปันผลประโยชน์ โดยในพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งไทยและกัมพูชาต่างให้สัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งจะต้องหาข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร

สำหรับผู้ได้รับสัมปทานพื้นที่ทับซ้อนจากรัฐบาลไทยเมื่อปี 2511 แบ่งเป็น 6 ส่วน ประกอบด้วย

1.แปลง B5 & B6 พื้นที่ 10,155 ตร.กม.ผู้รับสัมปทาน คือ Idemitsu Oil 50% (Operator) , Chevron E&P 20% ,Chevron Block 5 and 6 10% และ Mitsui Oil Exploration 20%

2.แปลง B7 B8 B9 พื้นที่ 10,420 ตร.กม. ผู้รับสัมปทาน คือ BG Asia 50% , Chevron Overseas Petroleum 33.33% และ Petroleum Resources 16.67%

3.แปลง B10 B11 พื้นที่ 2,785 ตร.กม. ผู้รับสัมปทาน คือ Chevron Thailand E&P 60% และ Mitsui Oil Exploration 40%

4.แปลง B12 B13 (บางส่วน) พื้นที่ 890 ตร.กม.ผู้รับสัมปทาน คือ Chevron Thailand E&P 80% และ Mitsui Oil Exploration 20%

5.แปลง G9/43 พื้นที่ 2,619 ตร.กม.ผู้รับสัมปทาน คือ บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 100% ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท ปตท.ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

6.แปลง B14 พื้นที่ 133 ตร.กม.ผู้รับสัมปทาน คือ บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 80%, Chevron Thailand E&P 16% และ Mitsui Oil Exploration 4%

ส่วนผู้รับสิทธิฝ่ายกัมพูชาที่มีการให้สิทธิสัมปทานเมื่อปี 2540 แบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

1. พื้นที่ I & II 20,576 ตร.กม. ผู้รับสัมปทาน คือ Conoco Inc 66.667% (Operator) และ Idemitsu 33.333%

2. พื้นที่ III 2,785 ตร.กม. ผู้รับสัมปทาน คือ Total EP Cambodge

3. พื้นที่ IV 3,642 ตร.กม. ผู้รับสัมปทาน คือ CNOOC 63% , Ministry of Mines & Energy 10% และ Resourceful Petroleum 27%