'นายกฯ' เร่งตั้ง JTC เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หลัง 'ฮุน มาเนต' ทวงถาม
"นายกฯ"ควง "ภูมิธรรม" เคลียร์ปม MOU 2544 ลั่น เรื่องเดียวรีบเร่ง ตั้งคณะกรรมการ JTC ให้เสร็จหลัง 'ฮุน มาเนต' ทวงถาม ยัน กัมพูชาพร้อมหนุนทุกเรื่อง
8 พ.ย.2567 ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี MOU 2544 จำเป็นต้องนำเข้าสภาเพื่อหาข้อยุติ ก่อนจะเดินหน้าแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา หรือไม่ ว่า ตัว MOU 2544 ยอมรับว่า ยังไม่เคยเข้าสภาฯ เพียงแต่ยึดหลักการเจรจา ภายใต้ MOU 2544 ซึ่งเป็นหลักที่เสรี เพราะทั้งไทยและกัมพูชาตกลงร่วมกันที่จะเจรจา
ส่วนกรณีที่ตนเคยระบุว่า จะโดนกัมพูชาฟ้อง หากใครยกเลิก MOU 44 นั้นตนขอชี้แจงว่า เรื่องฟ้องหรือไม่ฟ้องเกิดขึ้นได้ หากมีการยกเลิกฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นการที่เราพูดคุยกันระหว่างประเทศสำคัญมาก หากจะยกเลิก ยกเลิกเพื่ออะไร และยกเลิกทำไม และหากยกเลิกแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร คนไทยต้องคิดในเรื่องนี้ ซึ่งไม่ควรจะมายกเลิกฝ่ายเดียว และทำให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ต้องมีการพูดคุยกันก่อน จึงอยากขอเวลาเพื่อที่จะไปพูดคุยกัน
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไรและได้มีโอกาส พูดคุยกับผู้นำกัมพูชา ซึ่งทางผู้นำกัมพูชาได้ถามว่า มีอะไรที่จะให้ทางกัมพูชาสนับสนุนประเทศไทยหรือไม่ ก็ให้แจ้งมา ซึ่งตนบอกว่าเป็นเรื่องที่เราต้องสื่อสาร ให้ประชาชนได้เข้าใจมากกว่า ว่าเรายังไม่ได้เสียเปรียบอะไร ถึงแม้ว่าการขีดเส้นของ 2 ประเทศจะไม่เหมือนกัน จึงกลายเป็นที่มาของ MOU 2544 แล้วให้ไปเจรจากัน นี่คือสิ่งที่เราต้องทำต่อ และเชื่อว่าหลังจากกลับมาจากการประชุมเอเปค ในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้การจัดตั้งคณะกรรมการทางเทคนิค ก็จะเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตนได้แจ้งไปทางกัมพูชาแล้วว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการ ทางเทคนิคฝ่ายไทย จะเสร็จสิ้นประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะพูดคุยกันผ่านคณะกรรมการชุดนี้
เมื่อถามว่า เมื่อ MOU ดังกล่าวยังไม่เข้าสภาฯถือว่ายังไม่สมบูรณ์ใช่หรือไม่ โดยนายกรัฐมนตรีได้หันไปสอบถาม นายภูมิธรรม ว่าสมบูรณ์แล้วหรือไม่ ซึ่งนายภูมิธรรม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมยืนยันว่า MOU ดังกล่าวสมบูรณ์แล้ว เรื่อง MOU เป็นการพูดคุยกัน เพื่อให้ได้ข้อตกลงเรื่องไหล่ทวีป จึงไม่จำเป็นต้องเข้าสภาฯ ซึ่งมีความสมบูรณ์ในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่หากได้ผลการเจรจาและมีอะไรที่เป็นสนธิสัญญาจะต้องเข้าสภาฯ คำว่าสมบูรณ์หมายถึงข้อตกลงร่วมกัน เพราะต่างฝ่ายต่างประกาศเขตแดนซึ่งไม่เหมือนกัน ต่างฝ่ายต่างมีเส้นเป็นของตัวเอง MOU 2544 ให้ทั้ง 2 ประเทศ มาพูดคุยกัน ว่าเส้นตรงนี้จะยึดเส้นใด เรื่องอธิปไตยมันยังไม่จบ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเสริมว่า MOU ไม่ใช่ตัวชี้ว่าพื้นที่นี้เป็นของใคร เพียงแต่เมื่อเส้นของสองฝ่ายไม่ตรงกันจึงต้องพูดคุยกัน และไม่จำเป็นต้องเข้าสภาฯ เป็นข้อตกลงทั้งสองประเทศเรียบร้อยแล้วและเข้าใจตรงกัน
ส่วนกรณีที่ตั้งข้อสังเกตว่ากัมพูชาเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้ร่วมในสนธิสัญญาเจนีวาจะส่งผลกระทบอะไรหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า สนธิสัญญาเจนีวา เขาประกาศกฎหมายทางทะเล ไม่ว่าคุณจะเข้าหรือไม่เข้า ก็ต้องยอมรับสนธิสัญญานี้ และการเจรจาทั้งหมดก็ต้องยึดกรอบกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากมีผลครอบคลุมทุกประเทศทั่วโลก มองว่าไม่ใช่ปัญหา และในสนธิสัญญาได้ระบุชัดเจน เป็นสนธิสัญญาที่เป็นข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย เพื่อมาเจรจาเรื่องเขตแดนโดยสันติ และหลังจากคุยกันแล้วได้ข้อสรุปอย่างไรค่อยมาพูดคุยกันอีกครั้ง พร้อมยืนยันว่าจะต้องรีบจัดตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทยก่อน เนื่องจากฝ่ายกัมพูชามีอยู่แล้ว ก่อนที่จะเริ่มการเจรจา ซึ่งผูกพันอยู่ 2 ส่วนคือผลประโยชน์ทางทะเล และเขตแดนที่ชัดเจน
โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า การเจรจาแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล สามารถชะลอได้ เพื่อให้ข้อท้วงติงอื่นๆได้ข้อยุติ เพียงแต่การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคฝ่ายไทย หรือ JTC จะต้องมีขึ้น หากไม่มี ฝ่ายกัมพูชาก็จะไม่รู้ว่าจะพูดคุยอะไรกัน ยืนยันว่าเป็นเรื่องสำคัญเพียงเรื่องเดียวที่ต้องรีบเร่ง ส่วนเนื้อหาภายในไม่ต้องเร่ง ซึ่งตนได้พูดคุยกับทางกัมพูชา พูดตรงกันว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรเลย เพียงแต่ต้องพูดคุยให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งทางฝ่ายกัมพูชาก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน และมองว่าหากการจัดตั้งคณะกรรมการทางเทคนิคเสร็จ ทุกอย่างจะง่ายขึ้น มีการตรวจสอบได้ การพูดคุยของทั้ง 2 ประเทศก็จะเกิดขึ้น ข้อมูลที่ประชาชนอยากได้ก็จะครบถ้วนมากขึ้น
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีระบุว่า จะให้เจ้าหน้าที่ส่งข้อมูล เกี่ยวกับแผนที่การขีดเส้นให้กับสื่อมวลชน ซึ่งเส้นที่กัมพูชาขีดนั้นเขาอ้อมเกาะกูด ดังนั้นเกาะกูดไทย ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขตรงนี้ และทางกัมพูชาก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องนี้ และเขาก็ไม่ได้อยากมีปัญหากับเรา และเขาก็ถามอยู่เรื่องเดียว คณะกรรมการเทคนิคฝ่ายไทยจะแล้วเสร็จเมื่อใด