Future of tourism รับมือการเปลี่ยนผ่านอย่างมีคุณค่าและยั่งยืน
การท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยกว่า 29 ล้านคน (88%) เทียบกับช่วงก่อนโควิด และนำรายได้เข้าประเทศ 1 ล้านล้านบาท (สถิติดุลบัญชีเดินสะพัด ส่วนสถิติภาคต่างประเทศ ธปท.)
เนื่องจากความต้องการท่องเที่ยวทั่วโลกที่ขยายตัว รวมถึงมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ อาทิ มาตรการ Visa-Free และการกลับมาดำเนินการของสายการบินและเที่ยวบิน ซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องและทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดได้ภายในปี 2569
อย่างไรก็ดี หากมองไปในระยะยาวยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าภาคท่องเที่ยวของไทยจะเติบโตได้อีกแค่ไหน และการท่องเที่ยวรูปแบบใดจะมีบทบาทขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยวในระยะถัดไป บทความนี้จึงชวนทุกท่านมาคิดวิเคราะห์เพื่อตอบคำถามดังกล่าว
๐ ภาคท่องเที่ยวจะเติบโตได้อีกแค่ไหน
มองย้อนกลับไป 15 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10.4% นำโดยกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะใกล้ อาทิ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และอาเซียน และมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวคิดเป็น 7.1% รวมถึงกลุ่มระยะไกลที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่เมื่อมองไปข้างหน้าภาคการท่องเที่ยวของไทยยังมีโอกาสขยายตัว เพราะเศรษฐกิจของประเทศต้นทางที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักกำลังอยู่ในช่วงเติบโต
จากการศึกษาศักยภาพของภาคการท่องเที่ยวของไทยเชิงปริมาณจาก Gravity model (แบบจำลองด้านอุปสงค์ที่ใช้ศึกษาการค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ และใช้ข้อมูลนักท่องเที่ยว 31 สัญชาติหลักที่เดินทางมาเที่ยวไทยในช่วงปี 2546-2565)
พบว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัว ได้แก่
(1) เศรษฐกิจของประเทศต้นทาง (income effect) ซึ่งสะท้อนจากภาพรายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวแต่ละประเทศที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับจำนวนนักท่องเที่ยวขาออก (ภาพที่ 1)
และ (2) ระยะทางระหว่างประเทศ (distance) สอดคล้องกับสัดส่วนนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ร้อยละ 75 เป็นนักท่องเที่ยวระยะใกล้ (นักท่องเที่ยวระยะใกล้ ปี 2562 ประกอบด้วย จีน 28% อาเซียน 27% อินเดีย 5% ญี่ปุ่น 5% เกาหลีใต้ 5% ฮ่องกง 3% และไต้หวัน 2%)
ขณะที่มีปัจจัยหน่วงรั้งการท่องเที่ยวไทย ได้แก่ ความปลอดภัยและราคาพลังงาน ซึ่งสะท้อนต้นทุนการเดินทางและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา
ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตได้ร้อยละ 3.2 ต่อปี (IMF ประมาณว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อปีในปี 2567 และ 2568 (WEO, ต.ค.2567)) ตามที่ IMF ประเมินไว้ การประเมินจากแบบจำลองนี้ชี้ว่าจะสนับสนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวได้ที่ 4-6% ต่อปี
๐ พฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปหลังโควิด
แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเติบโตได้ แต่ในเชิงคุณภาพที่ชี้วัดจากการใช้จ่ายกลับเป็นประเด็นที่ท้าทาย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงสร้างของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป (composition effect)
กล่าวคือ นักท่องเที่ยวจีนที่ใช้จ่ายต่อวันสูงยังฟื้นตัวช้าและมีสัดส่วนน้อยกว่าช่วงก่อนโควิด โดยนักท่องเที่ยวจีนลดสัดส่วนจาก 28% ในปี 2562 เหลือราว 20% ในช่วงปี 2567 ขณะที่สัดส่วนนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายน้อยกว่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมาเลเซีย และอินเดีย
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากแนวโน้มพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป (behavior trends) อาทิ
(1) การหันมาเลือกบริโภค street food ทดแทนการบริโภคในร้านอาหารราคาแพง
(2) การเลือกซื้อสินค้าชิ้นพิเศษที่ผลิตในไทย เช่น สินค้าหัตถกรรม แทนที่จะซื้อของฝากครั้งละมากๆ
(3) การลดจำนวนวันพักให้สั้นลง ตามกระแสการท่องเที่ยวแบบ multi-countries ส่งผลให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปัจจุบันยังต่ำกว่าในอดีต ในระยะต่อไป
การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวยังมีโอกาสขยายตัวโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตสูง เช่น wellness tourism การท่องเที่ยวเพื่อการกีฬา ดนตรี และอาหาร รวมถึงการท่องเที่ยวเพื่อการทำงานในกลุ่ม digital nomads
แต่การดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย ทั้งในมิติด้านทักษะแรงงานและการบริการเชิงสุขภาพ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และการบริหารจัดการงานอีเว้นต์ขนาดใหญ่
๐ ปัจจัยด้านอุปทานเป็นตัวกำหนดการเติบโตระยะยาว
ปัจจัยด้านอุปทานทั้งสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐาน เป็นประเด็นสำคัญที่หลายภาคส่วนต้องช่วยกันพัฒนาเพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเติบโตได้ในระยะยาว
หากพิจารณาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคท่องเที่ยวล่าสุด ดัชนี TTDI ของไทยหล่นจากอันดับ 35 ในปี 2565 เป็นอันดับ 47 จาก 119 ประเทศ ในปี 2567 (Travel & tourism development index report (WEF, 2024)) และต่ำกว่าคู่แข่งในอาเซียนทั้ง สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ใน 3 มิติสำคัญ ได้แก่
(1) ความยั่งยืน ที่ดัชนีหมวดผลกระทบจากภาคท่องเที่ยวต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยอยู่ในอันดับ 106 จาก 119 ประเทศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทักษะแรงงาน รวมถึงการกระจุกตัวและพึ่งพานักท่องเที่ยวบางสัญชาติมากเกินไป และการกระจุกตัวของการท่องเที่ยวในช่วง high season
(2) สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะหมวดความปลอดภัยของไทยอยู่ในอันดับที่ 102 จาก 119 ประเทศ โดยไทยยังมีจุดอ่อนในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวที่ทั่วถึงและเป็นธรรม
(3) โครงสร้างพื้นฐานของไทย ที่อยู่ในอันดับ 81 จาก 119 ประเทศ โดยไทยยังขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการ อาทิ แพลตฟอร์มการจองที่พักที่เที่ยว รวมทั้งการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลักและเมืองรอง และระหว่างประเทศในภูมิภาค ที่จะช่วยเพิ่มระยะวันพักของนักท่องเที่ยวในไทยให้นานขึ้น
โดยสรุป แนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังคงขยายตัวได้ตามอุปสงค์โลก แต่เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณภาพภาคท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าสูงเพื่อให้สอดรับกับเทรนด์กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตสูง
ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันปรับทิศให้ทัน trend การท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนให้ภาคท่องเที่ยวของไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด