ค่าเงินบาทและเศรษฐกิจไทย: ประเด็นที่พูดถึงบ่อยที่สุด

ค่าเงินบาทและเศรษฐกิจไทย: ประเด็นที่พูดถึงบ่อยที่สุด

ในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นที่ถูกพูดถึงบ่อยที่สุดคือประเด็นค่าเงินบาท โดยล่าสุด เงินบาทได้หลุด 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว แข็งค่ากว่า 3.5% ตั้งแต่ต้นปี แต่เมื่อเทียบในรายไตรมาส เงินบาทของไทยกำลังแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบไตรมาสตั้งแต่วิกฤตการเงินเอเชีย

ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการส่งออกที่สำคัญของประเทศ โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 11% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่สิ้นเดือน มิ.ย.

ผู้เขียนมองว่า มี 7 ปัจจัยที่จะต้องพิจารณาในประเด็นค่าเงินบาท 

1. ในส่วนของการแข็งค่าของเงินบาทแข็งค่าเร็วมากและเร็วกว่าคู่ค้าคู่แข่ง โดยเมื่อพิจารณาจากต้นไตรมาสที่ 3 ถึงปัจจุบัน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์แข็งค่าแล้ว 11.4% เป็นรองแค่ค่าเงินริงกิต ของมาเลเซีย ที่แข็งค่า 12%

และเมื่อเทียบกับเดือนก่อน บาทแข็งค่าสูงสุดที่ 5.9% สูงกว่า เยน ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ ยูโร หยวน และรูปีห์อินเดียที่อยู่ที่ 0-4.9%

และหากพิจารณาเทียบคู่ค้าและคู่แข่งสำคัญ (พิจารณาจาก Nominal Effective Exchange Rate: NEER) พบว่า แข็งกว่า 5% ในเดือน ก.ค. (ข้อมูลล่าสุด) และเมื่อพิจารณาความผันผวน พบว่าผันผวนสูงมาก โดยข้อมูลจากบลูมเบิร์กระบุว่า 3-month implied volatility against the dollar is at 9.12% สูงกว่าค่าเฉลี่ยปีนี้ที่ 7.98%

2. หากพิจารณาจากทุนสำรอง พบว่าทุนสำรองของไทยเพิ่มขึ้นกว่า 7.2% นับตั้งแต่ต้นไตรมาส 3/24 เป็นต้นมา โดยปัจจุบันอยู่ที่ 2.39 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 2.24 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นไตรมาส 2/24 และหากรวมสัญญาณซื้อขายล่วงหน้า (Forward) พบว่าปัจจุบันอยู่ที่ 2.59 แสนล้านดอลลาร์

บ่งชี้ว่า ธปท. เข้าแทรกแซงค่าเงินผ่านการเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และหากไม่เข้าแทรกแซงแล้ว บาทน่าจะแข็งค่ากว่าที่เป็นอยู่

ค่าเงินบาทและเศรษฐกิจไทย: ประเด็นที่พูดถึงบ่อยที่สุด

3. การแข็งค่าของเงินบาท ส่วนใหญ่เกิดจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีเม็ดเงินที่จะไหลเข้าตลาดเกิดใหม่เพื่อเก็งกำไรส่วนต่างค่าเงิน

โดยที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยเกือบ 2.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินเหล่านี้จะเข้ามามากขึ้นท่ามกลางการลดดอกเบี้ยของ Fed อีกอย่างน้อย 150 bps ตามการคาดการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) 

4. รายได้จากการส่งออกรูปเงินบาทลดลง โดยตั้งแต่ ม.ค.-ก.ค. (ตัวเลขส่งออกล่าสุด) ส่งออกไทยขยายตัว 3.8% ในรูปเงินดอลลาร์ แต่ขยายตัว 9.4% ในรูปเงินบาท เนื่องจากบาทอ่อนกว่า 5.8% (จาก 34.2 บาทต่อดอลลาร์ สู่ 36.2 บาท ณ เดือน ก.ค.) 

แต่หากบาทแข็งค่าที่ 33 บาทต่อดอลลาร์จนถึงสิ้นปี และตั้งสมมุติฐานว่าส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 2% ทั้งปีในรูปเงินดอลลาร์ รายได้จากการส่งออกไทยในรูปเงินบาทจะหดตัวถึง -6.5% ในช่วงที่เหลือของปี หดตัวมากกว่ารายได้จากการส่งออกรูปดอลลาร์ที่จะหดตัวที่ประมาณ -0.5%

โดยสาเหตุของการหดตัวที่รุนแรงเป็นผลจากบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่า 7.8% (ค่าเฉลี่ยบาทช่วง 5 เดือนหลังของปี 2023 = 35.6 บาท) 

5. ทิศทางการฟื้นของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 น่าจะมีความเสี่ยงจาก 3 ปัจจัยลบ คือ

(1) ปัญหาการเมืองในช่วงเดือน ส.ค. ที่กระทบต่อความเชื่อมั่น

(2) ปัญหาอุทกภัย กระทบกำลังซื้อของครัวเรือนและภาคเกษตร เราคาดการณ์ว่าจะกระทบกับ GDP ประมาณ 0.07-0.19% ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการแก้ปัญหา

(3) เป็นไปได้ที่การส่งออกไทยจะเริ่มอ่อนกำลังลง จากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอลง ทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจมีมากขึ้นและสามารถลดดอกเบี้ยได้

ค่าเงินบาทและเศรษฐกิจไทย: ประเด็นที่พูดถึงบ่อยที่สุด

6. การแข็งค่าของเงินบาท ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ แต่สามารถมีผลกระทบทางจิตวิทยาต่อการชอปปิงและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โดยหากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในอนาคต โดยในปัจจุบันไทยกำลังจะบรรลุเป้าหมายในการต้อนรับนักท่องเที่ยว 36.7 ล้านคนในปีนี้ และสร้างรายได้ 2 ล้านล้านบาท จนถึงขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเกือบ 25 ล้านคน เพิ่มขึ้น 31% จากปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม จากการคำนวณเบื้องต้น หากค่าเงินบาทแข็งค่า 1 บาท จะทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปประมาณ 1,200 บาทต่อคนต่อทริป

7. ผู้เขียนมองว่า มองว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางนโยบายการเงินอาจเป็นไปได้ที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าในระดับเดียวกับไตรมาส 3 (ที่ประมาณ 12%) ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นสู่ระดับต่ำกว่า 30 บาท  ซึ่งจะทำให้การส่งออกรูปเงินบาทหดตัวรุนแรงมากกว่า -15% ในช่วง 5 เดือนหลัง และหดตัวมากกว่า -1.0% ทั้งปี 2024

แม้ว่าการส่งออกรูปเงินดอลลาร์จะไม่หดตัวก็ตาม แต่หากมีการลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 16 ต.ค. และ 18 ธ.ค. แล้ว ค่าเงินบาท ณ สิ้นปี อาจไปอยู่ที่ระดับ 35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้ค่าเฉลี่ยเงินบาททั้งปีนี้อยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกหลายฝ่ายเห็นว่าเหมาะสมได้

โดยสรุป ผู้เขียนมองว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคของดอกเบี้ยขาลง กระแสการลดดอกเบี้ยของ Fed จะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ธนาคารกลางอื่น ๆ เริ่มลดดอกเบี้ยได้ แต่ถ้าหากเราไม่ลดดอกเบี้ยบ้าง ค่าเงินบาทอาจหลุดเข้าสู่เลข 2 ได้ในไม่ช้า

 บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่.