ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เป็นกลาง-ปลอดการเมือง??
ว่ากันว่าไม่ว่าใครจะเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย
ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ผู้ว่าการ ธปท. เป็นรองประธาน และรองผู้ว่าการ 3 คน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 5 คน เป็นกรรมการ ผู้ว่าการเป็นผู้แต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการดําเนินการของแบงก์ชาติให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา 7 เว้นแต่กิจการและการดำเนินการที่เป็นอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชําระเงิน
พูดง่ายๆคือการทำงานของ คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ บอร์ดแบงก์ชาติ อยู่ในรูปแบบคณะกรรมการฯและปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย โดยเฉพาะการปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ เป็นอำนาจของรมว.เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่ต้องมีเหตุบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรงหรือหย่อนความสามารถต้องได้รับความเห็นชอบจากครม.ถึงจะดำเนินการได้ ส่วนการเลือกผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ รมว.คลังต้องแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก 7 คน เสนอรายชื่อให้ครม.พิจารณาก่อนหมดวาระ 90 วัน กรณีที่พ้นตำแหน่งก่อนวาระ แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกภายใน 15 วันจากนั้นเสนอ 2 รายชื่อให้ครม.พิจารณา
แม้ว่าตามกฎหมายแบงก์ชาติให้อำนาจของประธานบอร์ดไว้เพียงควบคุมดูแลโดยทั่วไปก็ตาม แต่ก็ยังสร้างความกังวลให้กับ 4 อดีตผู้ว่า ธปท.ที่ออกมาแสดงความห่วงใยในการ ‘คัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’ ร่วมกับกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ ที่ขณะนี้มีกว่า 830 คนไปแล้ว ไม่นับกองทัพธรรม คปท. ศปปส. ระดมรายชื่อกว่า 51,980 รายชื่อที่ไม่เห็นด้วยกับการที่มี "บุคคล" ที่เคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ "การเมือง” เข้ามานั่งในตำแหน่งนี้ว่า จะสามารถทำให้ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติจะลดลงหรือไม่ หรือมีสัญญาณของดอกเบี้ยขาลง ปรับเป้าตัวเลขเงินเฟ้อ จะเกิดขึ้นได้โดยที่แบงก์ชาติยังคงมีความอิสระของธนาคารกลางไว้ได้อย่างไร
อย่างไรก็ตามการทำหน้าที่ของแบงก์ชาติบนความอิสระของธนาคารกลาง ก็ต้องทำหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบ ต้องทำนโยบายด้วยความโปร่งใส ไม่มีการเมืองแทรกแซง ไม่กำหนดนโยบายที่จะสร้างภาระให้กับงบประมาณของประเทศชาติในระยะยาว เพราะการตัดสินใจของธนาคารกลางหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจและประชาชนทุกคนมากน้อยแตกต่างกัน และที่สำคัญหากนโยบายเรื่องใดๆเรื่องหนึ่งที่กำหนดไว้ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งผ่านไปแล้วสถานการณ์เปลี่ยนไปและดูว่าไม่เหมาะสมก็น่าจะปรับเปลี่ยนได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและประเทศชาติ