โอกาสจัดตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ในพื้นที่ EEC

โอกาสจัดตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ในพื้นที่ EEC

ในแต่ละปี อุตสาหกรรมการบินมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงราว 2% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ทำให้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593

ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่สายการบินต่างๆ เริ่มนำมาใช้ คือ เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ซึ่งผลิตจากวัตถุดิบหมุนเวียน เช่น น้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว กากน้ำตาล เป็นต้น โดย SAF สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงราว 80% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิล
 

สำหรับประเทศไทย โอกาสในการลงทุน SAF มีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากภาครัฐได้บรรจุ SAF เข้าไปใน (ร่าง) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2567-2580 (AEDP2024) โดยมีเป้าหมายสัดส่วนการผสม SAF อยู่ที่ 1% ของเชื้อเพลิงการบินทั้งหมด ในปี 2569 และจะเพิ่มเป็น 8% ในปี 2579 เป็นต้นไป โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปี 2580 มูลค่าตลาด SAF ของไทยจะสูงถึง 6.3 หมื่นล้านบาท จากในปี 2569 ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 5.4 พันล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 25%CAGR ซึ่งหากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันในการสนับสนุนให้สายการบินของไทยใช้ SAF ในสัดส่วน 8% ในปี 2580 จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 2.3 ล้านตันต่อปี หรือราว 11% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่งทางอากาศของไทย 
 

นอกจากนี้ Krungthai COMPASS มองว่า ประเทศไทยยังมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการผลิต SAF ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานอย่างโรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่ EEC จำนวน 5 แห่ง โดยมีกำลังการผลิตรวม 1.1 ล้านบาร์เรล/วัน หรือราว 90% ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ ซึ่งสามารถปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันเพื่อรองรับการผลิต SAF อีกทั้งภาครัฐมีโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเพื่อยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก ทำให้ความต้องการ SAF ของสายการบินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับทำเลของ EEC มีความได้เปรียบด้านการขนส่งที่เชื่อมโยงไปยังอาเซียน จึงสามารถนำเข้าน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วจากอาเซียนผ่านท่าเรือแหลมฉบังและชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งจะช่วยลดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต SAF รวมทั้งในระยะยาวยังสร้างโอกาสในการส่งออก SAF ผ่านท่าเรือแหลมฉบังอีกด้วย
อย่างไรก็ดี การลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิต SAF ในพื้นที่ EEC ต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้ง Ecosystem โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการบินควรวางแผนและกำหนดเป้าหมายการใช้ SAF มากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพควรร่วมมือกับเกษตรกร ภาคครัวเรือน รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและโรงแรม เพื่อรวบรวมน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วและวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตร ขณะที่ภาครัฐควรออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ SAF อย่างเป็นรูปธรรม เช่น มาตรการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรสำหรับการผลิต SAF มาตรการปรับลดอัตราภาษีสำหรับสายการบินที่เลือกใช้ SAF มากขึ้น เป็นต้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593