เอกนัฏ กางแผนรับนโยบายทรัมป์ ดึงการผลิตกลับสหรัฐฯ ถก BOI ปรับนโยบายลงทุน

เอกนัฏ กางแผนรับนโยบายทรัมป์ ดึงการผลิตกลับสหรัฐฯ ถก BOI ปรับนโยบายลงทุน

“เอกนัฏ” การแผนรับมือนโยบายโดนัล ทรัมป์ มั่นใจไทยรับมือได้แม้สหรัฐฯมีนโยบายดึงการผลิตกลับไปในประเทศ แนะต้องสร้างสมดุลการลงทุนมหาอำนาจในไทย อย่าให้สหรัฐฯมองไทยเป็นโรงงานสำรองของจีน พร้อมปรับนโยบายบีโอไอรับการลงทุนใหม่ แต่ให้คนไทย-กิจการไทยได้ประโยชน์ 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงภาคอุตสาหกรรมในการรับมือกับนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 ว่าเรื่องนี้ตนเองในฐานะรองประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่าประเทศไทยมีนโยบายที่จะดึงเม็ดเงินการลงทุนจากหลายๆประเทศเข้ามาในไทยไม่เฉพาะจีน หรือสหรัฐฯ

ซึ่งรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯนั้นเราก็ต้องจับตาดูนโยบายที่จะมีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ แน่นอนว่าแนวโน้มนโยบายของสหรัฐฯจะเน้นในเรื่องของการผลิตในประเทศ ลดการนำเข้าสินค้าซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาในเรื่องของประเทศคู่ค้า ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่เราต้องเตรียมตัว

ทั้งนี้ในเรื่องของภาคการผลิตเมื่อทรัมป์เข้ามาเป็นประธานาธิบดีมีการวิเคราะห์ว่าจะมีสินค้าและการผลิตจากจีนที่เข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น โดยการลงทุนทางตรงเหล่านี้เราก็ต้องมาหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการไทยได้ประโยชน์ มากขึ้นในแง่ของการกำหนดเงื่อนไขในเรื่องการใช้วัสดุในประเทศ หรือการถ่ายถอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นที่เป็นคนไทยมากขึ้น

ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องมีการปรับปรุงสิทธิ์ประโยชน์ในการยื่นขอบีโอไอที่จะต้องมีการพิจารณาเรื่องเหล่านี้ประกอบกันด้วย

โดยเงื่อนไขที่จะมีการพิจารณาเช่นเปิดให้มีการร่วมทุนเพื่อให้กิจการของคนไทยได้ประโยชน์มากขึ้น รวมทั้งการจ้างงานในกลุ่มที่เป็นแรงงานที่เป็นแรงงานทักษะสูง ซึ่งเรื่องนี้เราะพูดคุยกับบีโอไอมาตลอดเพื่อให้มีนโยบายที่ยืดหยุ่นและเหมาะสม

ส่วนเรื่องของการดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งสหรัฐฯเป็นผู้นำเข้าจากไทยรายใหญ่ซึ่งเราก็ต้องดูนโยบายในเรื่องนี้ว่าเราจะปรับมาตรการอย่างไรเพื่อให้สามารถดึงการลงทุน และก็สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจไทยในภาพรวมด้วย

หากปรับตัวได้ทันเราก็จะได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะมีการปรับเปลี่ยนสหรัฐฯเช่นกัน

 
ในส่วนของจุดยืนของประเทศไทยเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศไทยเรามีบทบาทที่ดีคือคงสถานะของความเป็นกลาง มากกว่าจะมีความเลือกข้าง และเน้นในเรื่องของความร่วมมือทางการค้า นักลงทุนจากต่างประเทศมองว่าเราเป็นประเทศแห่งโอกาส

ซึ่งเรามีจุดแข็งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่ดีและเรื่องของซัพพลายเชนที่เข้มแข็ง เรามีความพร้อมที่จะลงทุนในเรื่องของเม็ดเงินการลงทุนใหม่ๆ 


“ประเทศไทยเราก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะเราอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับการเพ่งเล็งเพราะเราเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯในหลายสินค้า และการกีดกันการค้าก็มีแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้นเราก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ เพราะว่าในเรื่องนี้เราก็ต้องระมัดระวังไม่ให้สหรัฐฯเพ่งเล็งเราว่าเราเป็นโรงงานหรือฐานการผลิตสำรองของจีน”