‘พิชัย’ ชี้ ‘OCA ไทย-กัมพูชา’ เปลี่ยนเกมค่าไฟ หนุนดึงดาต้าเซ็นเตอร์ลงทุนไทย
“พิชัย” หนุนการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย – กัมพูชา ดึงแหล่งพลังงานขึ้นมาใช้ประโยชน์ ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่ไม่มีฟอสซิล ชี้หากเราเป็นเจ้าของแหล่งพลังงานเอง สามารถกำหนดค่าไฟ เอื้อการลงทุนดาต้าเซนเตอร์ที่ใช้ไฟฟ้าปริมาณมาก กำหนดค่าไฟให้ถูกลงได้
KEY
POINTS
- “พิชัย” หนุนการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย – กัมพูชา ดึงแหล่งพลังงานขึ้นมาใช้ประโยชน์
- ชี้เป็นโอกาสสำคัญช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานไฟฟ้า และพลังงานที่ไม่มีการใช้ฟอสซิลในอนาคต
- ระบุหากไทยเราเป็นเจ้าของแหล่งพลังงานเอง สามารถกำหนดค่าไฟ เอื้อการลงทุนดาต้าเซนเตอร์ที่ใช้ไฟฟ้าปริมาณมาก สามารถกำหนดค่าไฟให้ถูกลงได้
การถกเถียงกันในสังคมเรื่องของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย – กัมพูชา ซึ่งเป็นประเด็นทางการเมืองโยงไปถึงเรื่องเขตอธิปไตยของเกาะกูด และการเรียกร้องให้เลิก MOU 44 ที่ไทยได้มีการลงนามกับกัมพูชาไว้ตั้งแต่ปี 2544 เพื่อเป็นกรอบในการหารือเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล
ซึ่งมีการสำรวจเบื้องต้นพบว่าเป็นแหล่งพลังงานที่หากมีการเจราจาและตกลงกันได้ระหว่างสองประเทศจะทำให้มีแหล่งพลังงานที่นำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อพัฒนาทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเช่นเดียวที่ไทยเคยมีข้อตกลงร่วมกับมาเลเซียในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันโดยทำเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) ซึ่งเป็นรูปแบบที่จะนำมาเป็นต้นแบบในการเจรจาร่วมกันกับกัมพูชาในครั้งนี้
แม้ว่าในมิติทางการเมืองเรื่องนี้รัฐบาลจะต้องเดินอย่างเป็นขั้นตอน โดยก่อนจะมีการเข้าไปสู่การเจรจาจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ไทย-กัมพูชา (JTC) โดยอยู่ระหว่างการจัดทำคณะกรรมการร่วม โดยจะมีการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามขั้นตอนก่อนที่จะมีการเริ่มขั้นตอนการเจรจากับกัมพูชา
สำหรับในแง่มุมเศรษฐกิจมีการพูดถึงการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานใต้ทะเลเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับทั้งสองประเทศ ล่าสุดนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า ประเทศไทยนั้นมีเรื่องที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สามารถดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศไทยได้เพิ่มเติมโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีการใช้ไฟฟ้ามากต้องการต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ไม่แพงจนเกินไป
ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศไทยเรามีแหล่งพลังงานเป็นของตัวเอง โดยขณะนี้ในปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ใช้อยู่ในไทยนั้นมาจากอ่าวไทยแค่ประมาณ 45% เท่านั้นที่เหลือการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาตินั้นเราใช้การนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งทำให้เรายังไม่สามารถที่จะพึ่งพาตัวเองในเรื่องพลังงานได้เต็มที่นัก
“เรื่องนี้คือเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลต้องผลักดันเรื่อง OCA เพราะทุกวันนี้มีคำถามว่าทำไมค่าไฟเราสูง ก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะเรายังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันเรานำเข้าพลังงานถึงกว่า 90% เวลาราคาในตลาดโลกขึ้นไปราคาในประเทศก็ขึ้นไปด้วย อย่างตอนที่มีการนำเข้าพลังงานก๊าซ LNG มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าแต่เกิดสงครามทำให้ LNG ราคาพุ่งสูงขึ้นมาก ทำให้ค่าไฟฟ้าต้องขึ้นตาม และเมื่อราคาเชื้อเพลิงขึ้นก็จะมีผลกระทบกับประชาชนบางส่วนที่ภาครัฐต้องเข้าไปดูแลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการเข้าไปอุดหนุน”
นายพิชัยกล่าวต่อว่าประเทศไทยเรานั้นไม่ใช่ผู้ส่งออกน้ำมัน จริงอยู่ที่ประเทศไทยนั้นมีการส่งออกน้ำมันแต่เป็นน้ำมันที่นำเข้ามากลั่นในโรงกลั่นที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งมีส่วนต่างอยู่ประมาณ 4 แสนบาร์เรลต่อวันคือนำเข้ามาใช้กำลังการกลั่นในประเทศและส่งออกไป ซึ่งหากเราจะสามารถกำหนดราคาพลังงานเชื้อเพลิงที่จะนำมาใช้นั้นเราก็ต้องมีแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพพอซึ่งหากเจรจาตรงนี้ได้เอาพลังงานขึ้นมาใช้ประโยชน์ก็จะทำให้เรามีก๊าซธรรมชาติมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในประเทศได้
ซึ่งภาพรวมก็จะทำให้ค่าไฟลดลงซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงมากอย่างธุรกิจดาต้าเซนเตอร์ หรือคลาวด์เซอร์วิสส์ธุรกิจเหล่านี้จะเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนในเรื่องของการจัดหาพลังงานราคาเหมาะสม และเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ใช่พลังงานฟอสซิลที่ปล่อยคาร์บอน
สำหรับศักยภาพของพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา นั้นรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังระบุว่าจากผลการสำรวจเบื้องต้นนั้นคาดว่ามีทั้งก๊าซและน้ำมันดิบ ซึ่งการสำรวจและผลิตที่จะทำต่อไปในอนาคตนั้นเชื่อว่ามีปริมาณไม่ต่างจากที่เราเคยทำและมีการใช้ประโยชน์มาแล้วในอดีต แต่ว่าระยะเวลาที่จะนำขึ้นมาใช้นั้นต้องมีการเร่งดำเนินการเพราะว่าต่อจากนี้อีก 20 ปีนั้นพลังงานฟอสซิลจะแทบไม่มีใครใช้แล้ว แหล่งพลังงานใน OCA จึงเป็นโจทย์ที่จะมาช่วยเศรษฐกิจไทยได้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ช่วงเวลาที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ