'ส.อ.ท.' เปิด 2 ปัจจัย 'บาทไทย' สวิง 'ขึ้น-ลง' หนักกว่าประเทศอื่น

'ส.อ.ท.' เปิด 2 ปัจจัย 'บาทไทย' สวิง 'ขึ้น-ลง' หนักกว่าประเทศอื่น

"ส.อ.ท." เปิด 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินบาทของประเทศไทยสวิง "ขึ้น-ลง" สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ  

KEY

POINTS

  • ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อประเทศไทยในหลายเรื่อง ทั้งอิทธิพลการย้ายฐานการผลิต การค้าการลงทุน รวมถึงค่าเงินบาท ซึ่งล่าสุดได้อ่อนค่าหนักสุดในรอบ 3 เดือน  
  • ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยหากแข็งค่าก็แข็งมากสุด และถ้าอ่อนค่าก็จะอ่อนมากสุด มาจากไทยมีความใกล้ชิดกับจีน มีผลมาจากการเลือกตั้งสหรัฐ หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง
  • ค่าเงินของไทยมักจะอิงกับตลาดทองคำ และเมื่อราคาทองคำลดลง ค่าเงินบาทไทยก็เลยลงตามไปด้วย ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีความผิดปกติ และควรจะเร่งสร้างสมดุล

จากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อประเทศไทยในหลายเรื่อง ทั้งอิทธิพลการย้ายฐานการผลิต การค้าการลงทุน รวมถึงค่าเงินบาท ซึ่งล่าสุดได้อ่อนค่าหนักสุดในรอบ 3 เดือน 

ซึ่งผลพวงมาจากเศรษฐกิจและการเงินที่เอฟเฟคมาจากการที่ "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้รับชัยชนะการเคลื่อนย้าย “สินทรัพย์” หรือการโยกเงินลงทุนกลับสหรัฐ ส่งผลให้เห็นการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนการโยกย้ายสินทรัพย์กลับสู่ตลาดสหรัฐอย่างรวดเร็วในระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ เกิดเงินไหลออกจากตลาดหุ้น ตลาดบอนด์ทั่วโลก หรือแม้แต่การลงทุนที่เริ่มเห็นการประกาศย้ายฐานผลิตเพื่อรับอานิสงส์และรับผลกระทบจากการมาของทรัมป์ 

อย่างไรก็ตาม หากเทียบจากวันที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งวันที่ 4 -14 พ.ย. 2567 พบว่า สกุลเงินเกือบทุกสกุลอ่อนค่าหมดหากเทียบดอลลาร์ ค่าเงินบาท อ่อนค่าลง 3.9% จากระดับ 33.713บาท มาสู่ 35.09 บาทในปัจจุบัน ถือเป็นระดับเงินบาทอ่อนค่าที่สุดในรอบ 3 เดือน

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของค่าเงินบาท ยังสอดคล้องกับเงินหยวนที่อ่อนค่าต่อเนื่อง จากความกังวลการกีดกันทางการค้าสหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่ามากขึ้น

นายเกรียงไกร เธียนนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า ค่าเงินในประเทศไทยมีความผันผวนมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยหากแข็งค่าก็แข็งมากสุด และถ้าอ่อนค่าก็จะอ่อนมากสุด โดยอาจมาจากปัจจัย 2 ด้าน คือ 

1. ไทยมีความใกล้ชิดกับจีน ซึ่งอาจมีผลมาจากการเลือกตั้งสหรัฐ หลัง "โดนัลด์ ทรัมป์" ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งมุ่งนโยบายเชิญชวนผู้นำประเทศ พร้อมสรรหาคนรุ่นใหม่มาช่วยทำงาน อีกทั้ง ยังตั้งใจดึงเงินทุนกลับเข้าประเทศ ไม่เหมือนกับประธานาธิบดีคนเดิมที่มุ่งเน้นในเรื่องของการช่วยเหลือด้านสงครามระหว่างประเทศ

2. ค่าเงินของประเทศไทยมักจะอิงกับตลาดทองคำ และเมื่อราคาทองคำลดลง ค่าเงินบาทไทยก็เลยลงตามไปด้วย ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีความผิดปกติ และควรจะเร่งสร้างสมดุลหรือไม่ ถือเป็นการบ้านใหม่ให้กับรัฐบาลต้องเร่งแก้ไข

นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนกระทบต่อความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทย และสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางยังเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการค้าโลก จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,365 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มของส.อ.ท. ในเดือนต.ค. 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ 50.4%

เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยลบจากกำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ จากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะหนี้เสีย (NPL) ที่เพิ่มขึ้น 13.3% YoY อยู่ที่ระดับ 1.18 ล้านล้านบาท” 

สถานการณ์น้ำท่วมช่วงเดือน ก.ย.และต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น สินค้าวัสดุก่อสร้างได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นผลจากปัญหาหนี้ครัวเรือน อีกทั้งสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด กระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะเอสเอ็มอี