‘ส.อ.ท.‘ ชงตั้งกองทุนรับความเสี่ยง หนุนปล่อยสินเชื่อรถกระบะ เพิ่ม 1 แสนคัน

‘ส.อ.ท.‘ ชงตั้งกองทุนรับความเสี่ยง หนุนปล่อยสินเชื่อรถกระบะ เพิ่ม 1 แสนคัน

"ส.อ.ท." เสนอตั้งกองทุนช่วยรับความเสี่ยง หนุนสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อรถกระบะเชิงพาณิชย์ เพิ่มขึ้นปีละ 1 แสนคัน ช่วยดันยอดขายในประเทศ หลังยอดขายรถยนต์เดือนก.ย.67 ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 53 เดือน

สถานการณ์การผลิตรถยนต์ในปีนี้น่าเป็นห่วงว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ 1.7 ล้านคัน จากการผลิตเพื่อส่งออกที่มีปัจจัยกดดันปัญหาสงครามตะวันออกกลาง รวมทั้งยอดการจำหน่ายในประเทศที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำให้สถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อรถยนต์ 50-60% และยังไม่มีสัญญาณว่าจะดีขึ้น 

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ด้วยมีซัพพลายเชนและแรงงานที่เกี่ยวข้องกว่า 7 แสนคน ดังนั้นการที่ยอดการผลิตและยอดขายรถยนต์ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายจึงทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะรถกระบะที่เป็นเครื่องมือทำมาหากินของธุรกิจเอสเอ็มอี 

ทั้งนี้ ตัวแทนภาคเอกชนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จึงได้เสนอให้มีมาตรการช่วยเหลือสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในสมุดปกขาวที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้ว โดยให้มีการตั้งกองทุนมูลค่า 5,000 ล้านบาท เพื่อรองรับความเสี่ยงและส่งเสริมให้สถาบันการเงินพิจารณาปล่อยสินเชื่อรถกระบะได้เพิ่มขึ้นปีละ 1 แสนคัน โดยตั้งเป้าให้ยอดขายขยายตัวเพิ่มขึ้น ปีนี้เป็น 7 แสนคัน ปีถัดไปเป็น 8 แสนคัน 

"การตั้งกองทุนจะเป็นการสนับสนุนการซื้อรถกระบะประเภทที่ใช้งานเชิงพาณิชย์เท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการบริโภค ซึ่งนอกจากจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสการเติบโตเศรษฐกิจประเทศด้วย ยิ่งกลุ่มผู้ซื้อรถกระบะที่จะนำไปสร้างรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดหวังว่าจะมีการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการและเกณฑ์ในการขอสินเชื่อรถยนต์อีกด้วย"

รายงานจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์ 9 เดือน ระหว่าง ม.ค. - ก.ย.2567 มีจำนวนรวมรถยนต์ทุกประเภทอยู่ที่ 1.1 ล้านคัน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีจำนวน 1.3 ล้านคัน ลดลง 18.62% ห่างจากเป้าหมายที่ ส.อ.ท.กำหนดไว้ในปีนี้จะผลิตรถยนต์จำนวน 1.7 ล้านคัน ดังนั้นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหารือเพื่อปรับเป้าหมายดังกล่าวลง โดยคาดว่าจะมีการประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในช่วงปลายเดือนนี้ และในเดือน ต.ค.2567 จะมีตัวเลขเป้าหมายใหม่ออกมา โดยเบื้องต้นอาจจะปรับลดลงหลายหมื่นคัน หรือเฉียดแสนคัน

ซึ่งเป็นการปรับยอดการผลิตทั้งในประเทศและส่งออก เนื่องจากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกรถยนต์ได้รับผลกระทบจากปัญหาสงครามตะวันออกกลางที่ขยายวงกว้าง ทำให้หลายประเทศคู่ค้ามียอดการขายภายในประเทศลดลง และระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนยอดขายภายในประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% สถาบันทางการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อรถยนต์ 50 – 60% และยังไม่มีสัญญาณบวกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น

การเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อให้ผู้ซื้อรถยนต์เพราะหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ยังอยู่ในระดับที่สูงที่ 208,575 ล้านบาท หนี้เสียรถยนต์อยู่ที่ 259.330 ล้านบาท ในเดือนกรกฎาคม 2567

โดยยอดขายรถยนต์ภายในประเทศตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ย. 2567 อยู่ที่ 438,659 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 25.25% เป็นยอดขายรถกระบะมีจำนวน 126,560 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว 39.35%

ทั้งนี้คาดว่ายอดขายในประเทศปีนี้จะใกล้เคียงกับยอดขายในปี 2539 ซึ่งมียอดขายที่ 589,126 คัน ก่อนจะเกิดต้มยำกุ้งในปี 2540